SEAMEO STEM-ED ระดมถกนักวิจัยอาเซียน แก้ปมนักเรียนคุณภาพต่ำเกณฑ์

SEAMEO STEM-ED ระดมเครือข่ายนักวิจัยอาเซียน ประชุมหาแนวทางพัฒนาสะเต็มศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา แก้ปัญหาเยาวชนคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์โลก เพื่อการพัฒนาอาเซียนอย่างยั่งยืน หลังพบผลกระทบจาก 3 ปัจจัย เศรษฐกิจติดหล่มจากโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำของเด็กในเมืองกับชนบท

วันที่ 11 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMEO STEM-ED ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และเชฟรอนคอร์ปอเรชั่น จัดการประชุมนักวิจัยระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสะเต็มศึกษา

โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยระดับนานาชาติ ร่วมระดมสมอง เพื่อกระตุ้นให้เกิดงานวิจัย ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษาในอาเซียน

หลังพบปัญหาเยาวชนอาเซียน มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก อันเนื่องมาจากขาดการส่งเสริมเรื่องสะเต็มศึกษา ประกอบกับ 3 ปัจจัย ที่ทำให้การศึกษาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ คือ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำของเด็กในเมืองกับชนบท และผลกระทบจากโควิด-19

บทสรุปและแนวทาง ที่ได้จากงานประชุมครั้งนี้ จะถูกนำไปพัฒนาและบรรจุเป็นวาระนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMEO Congress 2021 ที่จะมีขึ้นปลายเดือนเมษายน 2564

การประชุมครั้งนี้มี 3 วิทยากรหลัก นำเสนอภาพรวม ได้แก่ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ และ Ms. Dee Bourbon, Senior Advisor, Global Social Investment, Chevron Corporation

ดร.สุภัทรชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัย ที่จะช่วยยกระดับการศึกษาของอาเซียน ว่า สภาพปัญหาที่ภูมิภาคนี้เผชิญหน้า มีความคล้ายกัน 3 เรื่องคือ เยาวชนอาเซียนมีผลประเมินด้านการศึกษาต่ำ (PISA) การขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education : STEM-ED)

 

โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง รวมทั้งการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ทางแก้ไขคือเร่งส่งเสริมการทำวิจัยด้านการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์การศึกษาในอนาคต เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการวางนโยบายการศึกษาของแต่ละประเทศ

โดยคาดหวังว่า เวทีนี้จะช่วยยกระดับความร่วมมือ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการศึกษาระดับภูมิภาค ในการนำองค์ความรู้ของแต่ละชาติมาต่อยอด รวมทั้งร่วมกันกำหนดโจทย์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโมเดลงานวิจัยด้านการศึกษา ที่จะนำไปสู่การยกระดับศักยภาพของอาเซียนอย่างยั่งยืน

ด้าน ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษากับการพัฒนาอาชีพครู และการสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเน้นว่า ที่ผ่านมา ในอาเซียนยังไม่มีการวางนโยบายด้านสะเต็มศึกษาอย่างจริงจัง ความร่วมมือกับเชฟรอนเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้เกิดการทำวิจัย เพื่อนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย

 

การจัดเวทีครั้งนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ ระหว่างผู้กำหนดนโนบายระดับประเทศกับนักวิจัย เพื่อสร้างมาตรฐานงานวิจัยต้นแบบ และการจัดทำฐานข้อมูลวิจัย เพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา

โดยการหารือครอบคลุม 3 ประเด็นหลักคือ กระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) การพัฒนาอาชีพครูและองค์ประกอบการเรียนสะเต็มศึกษา การบูรณาการสะเต็มศึกษาตั้งแต่ระบบเรียนฟรี หรือ K-12 และการสร้างโมเดลวิทยาลัยอาชีวะสะเต็มศึกษาที่ได้มาตรฐานระดับโลก

ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED ย้ำว่า การพัฒนางานวิจัย ต้องเดินคู่ไปกับการพัฒนานักวิจัย จึงจะมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์การให้ทุนงานวิจัย ควบคู่กับการกำหนดแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถนักวิจัยด้านการศึกษา

ในอาเซียนมีประเด็นงานวิจัยที่คล้ายกันคือ ผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจจากโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำของเด็กในเมืองและชนบท และดิจิทัล ดิสรัปชั่น

การประชุมครั้งนี้เป็นการสกัดสาระสำคัญ นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาครูในรูปแบบใหม่ และกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในอาเซียน

Ms.Dee Bourbon, Senior Advisor, Global Social Investment, Chevron Corporation กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า เชฟรอนร่วมพัฒนาพลังคน ในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 6 แล้วภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง โดยร่วมกับ SEAMEO STEM-ED

 

โครงการดังกล่าวเป็นโมเดลต้นแบบงาน CSR ด้านการศึกษาระดับภูมิภาค โดยนำเสนองานวิจัยที่ถอดบทเรียนในโครงการให้กับนักวิจัยทั้งอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการสอนในห้องเรียน ประโยชน์ของกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) รวมถึงการประเมินครูผู้สอน ซึ่งมีความสำคัญต่อเด็กและการยกระดับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอาเซียน

บทสรุปและแนวทางที่ได้จากงานประชุมครั้งนี้ จะถูกนำไปพัฒนาและบรรจุเป็นวาระนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMEO Congress 2021 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

Next Post

ความหวังเปิดประเทศ

อาทิตย์ มี.ค. 14 , 2021
หากเป็นไปตามแผนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 1 เมษายนนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ จะเข้าไทยได้อย่างมีเงื่อนไข รวมถึงแนวคิดเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกกว่า 70 ประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมีความหวัง กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชายหาดป่าตองจังหวัดภูเก็ต เงียบเหงา มากว่า 1 ปีแล้วยังไม่มีสัญญาณ […]