โซเชียลดัน #NoCPTPP รัฐบาลโต้ยังไม่มีลงนาม ขยายเวลาศึกษา 50 วัน

กลุ่มจับตาการเข้าร่วมสนธิสัญญาต่าง ๆ (FTA Watch) เผยแพร่เอกสารที่อ้างว่า รัฐบาลประชุมลับและลงนามร่วมข้อตกลง CPTPP ทำให้ #NoCPTPP กลับมาขึ้นเทรนด์อีกครั้ง ล่าสุด รองโฆษกฯ ยืนยันว่า ไม่มีการประชุมลับ ไม่มีลงมติ เป็นการขอขยายระยะเวลาศึกษาอีก 50 วัน

เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 เพจเฟซบุ๊ก FTA Watch เผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่ง ที่อ้างว่ารัฐบาลไทย อาจลงนามเข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก CPTPP ที่เคยสร้างความกังวลในวงกว้างว่าราคายาอาจสูงขึ้นและอาจทำให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกเองไม่ได้อีกต่อไป

เอกสารที่ FTA Watch นำมาเผยแพร่ ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เสนอเรื่องผลการดำเนินการเรื่อง CPTPP ต่อคณะรัฐมนตรี และเอกสารดังกล่าวยังระบุอีกว่า ถ้าหากคณะรัฐมนตรีไม่มีข้อทักท้วงใด ๆ ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหรืออนุมัติ

เมื่อประเด็นนี้ เผยแพร่ สังคมออนไลน์ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดย ทวิตเตอร์ในไทย ยังร่วมกันต่อต้านการเข้าร่วม CPTPP ด้วยการติดแฮชแท็ก #NoCPTPP จนได้รับความนิยมในอันดับต้น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการทำอินโฟกราฟิก ให้เข้าใจเรื่องผลดี ผลเสีย ของ CPTPP อย่างง่าย ๆ จากหลายกลุ่มคัดค้าน รวมไปถึงการจัดคิวอาร์โค้ด ลงชื่อคัดค้าน และมีการรณรงค์ให้ร่วมกันลงชื่อในแคมเปญ #NoCPTPP บนเว็บไซต์ change.org เพื่อร้องเรียนรัฐบาลไทย ล่าสุด วันนี้ (6 พ.ค.2564) เวลา 06.10 น. มีผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้ว 63,103 คน

หลังมีการตั้งคำถามในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า “ไม่มีการประชุมลับ และไม่มีการลงมติ เรื่องที่เข้ามาคือ ขอขยายระยะเวลาศึกษาเพิ่มอีก 50 วันเพื่อความรอบคอบ”

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาเภสัชฯ ร้องรัฐศึกษารอบด้านร่วม “CPTPP” หวั่นกระทบยาในไทย

“จุรินทร์” ถอน CPTPP ออกจากวาระประชุม ครม.

FTA Watch รณรงค์ค้านไทยเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP

 

Next Post

"นพ.ยง." ชี้ไทยต้องการวัคซีนโควิดทุกตัว - ตัวเลขประสิทธิภาพวัดกันไม่ได้

พฤหัส พ.ค. 6 , 2021
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เผยตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19 ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะไม่ได้ทดลอง หรือศึกษาพร้อมกันในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน ขณะที่ประเทศไทยต้องการวัคซีนทุกตัว ที่สามารถจะนำเข้ามาได้ และให้มีการใช้อย่างเร็วที่สุด วันนี้ (6 พ.ค.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญ […]