โควิดลามทั่วไทย! ป่วยเพิ่ม 1,582 คน ติดเชื้อครบ 77 จังหวัด

สธ.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ไทยพบผู้ป่วยใหม่ 1,582 คน แตะหลักพันต่อเนื่องวันที่ 3 รวมผู้ป่วยสะสม 39,035 คน ลามครบ 77 จังหวัดทั่วไทย พบ 13 จังหวัดป่วยเกิน 100 คน กทม.มากสุด

วันนี้ (16 เม.ย.64) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ COVID-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,582 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขเกินหลักพันต่อเนื่อง 3 วันติด ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 39,035 คน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 921 คน จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 656 คน และจากต่างประเทศ 5 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 9,884 คน ในโรงพยาบาลสนาม 577 คน เสียชีวิตคงที่ 97 คน และอาการหนัก 16 คน

ขณะที่สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 14 วัน (3-16 เม.ย.) พบว่ามีการไต่ระดับติดต่อกัน 3 วันสูงต่อเนื่อง จากวันแรกที่เริ่มมาตรการปิดสถานบันเทิงวันที่ 10 เม.ย. ผู้ติดเชื้อ 789 คน และประกาศมาตรการหลังสงกรานต์ Work From Home หลังสงกรานต์วันที่ 13 เม.ย. ยอดผู้ติดเชื้อ 965 คน ดังนั้น การติดเชื้อที่ตัวเลขสูงเพราะมาจากระยะฟักตัวของผู้ติดอย่างน้อย 7 วัน

“ระนอง – สตูล” ไข่แตก ไทยพบป่วยเกินร้อย 13 จว.

สำหรับจังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 มาก คือ กทม. 312 คน เชียงใหม่ 272 คน ชลบุรี 111 คน ประจวบคีรีขันธ์ 100 คน สมุทรปราการ 40 คน ลำปาง 59 คน ลักษณะข้อมูลทั้งกลุ่มก้อนที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง

วันนี้ถือว่าประเทศไทยพบการติดเชื้อครบ 77 จังหวัดแล้ว ซึ่งมีเพิ่ม จ.ระนอง เพิ่งพบการติดเชื้อ 2 คนในวันนี้ ส่วนที่ จ.สตูล 1 คน พบเป็นหญิงชาวญี่ปุ่นที่มาเที่ยวในไทย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพิ่มเติม

นพ.เฉวตสรร ระบุว่า หากไล่แผนที่ตามสีการระบาดระลอกใหม่ของ เม.ย. พบว่าตั้งแต่ 1-15 เม.ย.ที่ผ่านมา จังหวัดที่มากกว่า 100 คน มี 13 จังหวัดคือ กทม.เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ นราธิวาส ปทุมธานี สระแก้ว นนทบุรี ระยอง ภูเก็ต นครปฐม ส่วนจังหวัดที่มีการติดเชื้อตั้งแต่ 51-100 คน มี 6 จังหวัด นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานี สงขลา

การติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน 1-50 คน คือ จ.เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี กาญฯ ราชบุรี จว เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ปราจีนบุรี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี ชัยภูมิ ชุมพร สุราษฯ นครศรีฯ กระบี่ ปัตตานี

นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มก้อนติดเชื้อในครอบครัว 20 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี นครนายก สมุทรสงคราม ตราด มหาสาครคาม นครพนม หนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ มุกดาหาร พังงา พัทลุง พบผู้ติดเชื้อจากจังหวัดอื่น 8 จังหวัด คือ แพร่ น่าน พะเยา สกลนคร อำนาจเจริญ ระนอง ตรัง ยะลา

เปิดข้อมูล 7 จังหวัดคลัสเตอร์ใหม่ระบาด

นอกจากนี้ นพ.เฉวตสรร ระบุอีกว่า ข้อมูลยังพบว่ากลุ่มก้อนการระบาดในเดือน เม.ย.พบลักษณะเด่น เช่น จ.เชียงใหม่ จากค่ายอาสาพบผู้ติดเชื้อ 34 คน กระจายใน 13 จังหวัด ส่วน จ.นครราชสีมา มีกลุ่มก้อนร้านอาหารในเมือง ติดเชื้อ 14 คน และคลัสเตอร์สังสรรค์คาราโอเกะติดเชื้อ 5 คน ส่วนกรณีจ.นครสวรรค์ จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงกระจายใน 2 จังหวัด

ขณะที่ จ.กาญจนบุรี คลัสเตอร์โรงเรียนมีผู้ติดเชื้อ 28 คน ส่วนที่ จ.สงขลา คลัสเตอร์ผับหาดใหญ่ ติดเชื้อ 16 คน และคลัสเตอร์งานเลี้ยงรุ่น 8 คน ที่ จ.นนทบุรี คลัสเตอร์งานสัมมนาบริษัทในรีสอร์ต กระจายไป 8 จังหวัด และ จ.นครศรีธรรมราช คลัสเตอร์งานกิจกรรมรวมกลุ่ม ติดเชื้อ 20 คนกระจายไปใน 3 จังหวัด และคลัสเตอร์งานบวช 10 คน

การมีคลัสเตอร์ใหม่ จึงกลายเป็นความเสี่ยงสำหรับคนที่ต้องเดินทางไปในจุดต่าง ๆ ว่าจะเจอใครที่ติดเชื้อบ้าง

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานศึกษาที่ต้องมีการออกมาตรการป้องกัน COVID-19 อย่างเคร่งครัด หลังพบว่าการระบาดระลอก เม.ย.นี้ มีการระบาดในสถานศึกษาแล้ว 5 จังหวัดคือ กาญจนบุรี 28 คน สมุทรปราการ 3 คน กระบี่ 4 คน จันทบุรี 2 คน และชลบุรี 7 คน โดยจะมีการเสนอมาตรการในที่ประชุม ศบค.วันนี้ด้วย

ทั่วโลกติดเชื้อ 139 ล้านคน เพิ่มวันเดียวกว่า 7 แสนคน

สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก 139,623,508 คน ติดเชื้อเพิ่ม 734,508 คน เสียชีวิต 2,997,711 คน และอันดับที่สูงสุดกลายเป็นอินเดียติดใหม่ 216,850 คน สหรัฐฯ 69,740 คน บราซิล 69,117 คน แต่ที่เสียชีวิตมากอยู่ที่สุดต่อวัน 3,264 คน และทำให้ยอดเสียชีวิตของบราซิลคือ 365,444 คน

สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีการติดเชื้อมากในอินเดียมาจากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ UK variant ใน 18-19 รัฐของประเทศ และสายพันธุ์ Doubel mutation ซึ่งมาจากการประกอบพิธีอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ช่วงเทศกาลกุมภเมลาที่มีประชาชนมารวมตัวกันมาก ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย และการขาดแคลนวัคซีน

ส่วนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมสำหรับประชาชนในประเทศๆไทยนั้น จะมีเข้ามาเพิ่มเติมในเดือน มิ.ย.นี้ อีกราว 6 ล้านโดส และเดือน ก.ค.อีก 10 ล้านโดส ยืนยันว่า ไม่ได้จัดหาวัคซีนล้าช้า เพราะต้องมีกระบวนการเจรจากับประเทศผู้ผลิตและทั่วโลกก็ต้องรอวัคซีนเหมือนกัน ส่วนมาตรการต่าง ๆ ที่จะเสนอไปยัง ศบค.ช่วงบ่ายวันนี้ 

 

 

Next Post

กนอ.ชี้แจงควันดำ "มาบตาพุด" จากไฟฟ้าดับ

ศุกร์ เม.ย. 16 , 2021
กนอ.ชี้แจงกรณีควันดำในนิคมฯ มาบตาพุดเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากระบบไฟฟ้าดับ สั่งโรงงานหามาตรการสำรองป้องกันมิให้เกิดเหตุซ้ำอีก วันนี้ (16 เม.ย.2564) น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุหน่วยผลิตไฟฟ้าของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สา […]