แบงก์ชาติออกมาตรการช่วยลูกหนี้ระยะ 3 บรรเทาพิษโควิด

แบงก์ชาติร่วมกับสถาบันการเงิน เพิ่มทางเลือกให้กับลูกหนี้บรรเทาผลกระทบ COVID-19 ระยะที่ 3 ตั้งแต่ยืดหนี้-ลดค่างวด-ลดดอกเบี้ย ไปจนถึงมาตรการรวมหนี้-คืนรถ หลังพบผู้กู้รายย่อยเสี่ยงจ่ายหนี้ไม่ไหวเพิ่มขึ้น เริ่มวันที่ 17 พ.ค.-31 ธ.ค.2564

วันนี้ (14 พ.ค.2564) นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ หรือ แบงก์ชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ COVID-19 รอบใหม่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจการรายย่อยเพิ่มขึ้น ตลอดจนการจ้างงาน และการหารายได้ ทำให้ผู้กู้รายย่อยจำนวนมากเริ่มประสบปัญหาชำระหนี้ จากการถูกเลิกจ้างและรายได้ลดลง ต้องขอเข้ารับมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในช่วงเริ่มการระบาดรอบ 3 เดือน ก.พ.-มี.ค.จำนวน 100,000 ราย วงเงิน 4 ล้านบาท เห็นสัญญาณการค้างชำระเกิน 1 วันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 10% ของพอร์ตรายย่อย จากมาตรการระยะที่ 2 มีลูกค้าขอความช่วยเหลือ 3.7 ล้านล้านบาท เป็นลูกค้ารายย่อย 1.9 ล้านล้านบาท

แบงก์ชาติ จึงหารือกับสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตลอดจน Non-bank เพิ่มรูปแบบทางเลือกมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้กู้รายย่อยเพิ่มเติม จากเดิมสถาบันการเงินได้ปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระเงินต้น กำหนดค่างวดตามความสามารถในการชำระของผู้กู้

สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบใหม่ที่เพิ่มเติมจะครอบคลุมสินเชื่อ 4 กลุ่ม ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สามารถติดต่อกับสถาบันการเงิน ขอลดค่างวด หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ ซึ่งหากขยายเวลาเกิน 48 งวด ต้องได้รับการทบทวนดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราที่กำหนด หรือขอรวมหนี้ดังกล่าวกับหนี้บ้าน ในอัตราดอกเบี้ยผู้กู้ชั้นดี หรือ MRR รวมกับอัตราดอกเบี้ยบ้านเดิม แต่ดอกเบี้ยในสัญญาใหม่ต้องไม่สูงเกินดอกเบี้ยเดิม

สินเชื่อจำนำทะเบียนรถและรถจักรยานยนต์ ซึ่งสามารถลดค่างวด พักชำระค่างวด หรือรวมหนี้กับหนี้บ้านได้ พร้อมเปิดทางให้ผู้กู้สามารถคืนรถได้ในราคาประมูลจริง ต่ำกว่าภาระหนี้ตามสัญญา และลดภาระดอกเบี้ยลูกหนี้ในอัตราที่เหมาะสม

สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หากลูกหนี้ไม่ต้องการผ่อนชำระทรัพย์ สามารถคืนรถได้เฉพาะกรณีเช่าซื้อรถยนต์ หรือเลือกที่จะรวมหนี้กับหนี้บ้าน หรือหากลูกหนี้ต้องการโปะหนี้เพื่อปิดบัญชี ต้องได้รับการลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ไม่น้อยกว่า 50% ตามข้อกำหนดของ สคบ.

สินเชื่อที่อยู่อาศัย กำหนดให้สถาบันการเงินช่วยบรรเทาภาระหนี้ โดยลดค่างวด หรือพักเงินต้น และจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน หรือพักเงินต้น และพิจารณาลดดอกเบี้ย หรือพักชำระค่างวด พร้อมเปิดให้ทยอยชำระเงินคืนแบบขั้นบันได ตามความสามารถลูกหนี้ หลังลดค่างวด หรือพักชำระหนี้

นายรณดล กล่าวอีกว่า มาตรการดังกล่าวเป็นแนวทางที่แบงก์ชาติหารือกับสถาบันการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบลูกหนี้ แต่รายละเอียดการเข้ารับมาตรการแต่ละประเภทสินเชื่อ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขสถาบันการเงินแต่ละแห่งด้วย โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. – 31 ธ.ค.2564 พร้อมย้ำว่าผู้กู้ที่ยังมีศักยภาพควรชำระหนี้ตามปกติ เนื่องจากการคำนวณอัตราดอกเบี้ยยังเดินเป็นรายวันตามรอบการชำระปกติ และไม่เพิ่มภาระการชำระดอกเบี้ยในอนาคต

สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ (NPL) ในระบบสถาบันการเงินทั้งระบบ อาจเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ระยะลอก 3 แต่ไม่ใช่ประเด็นที่แบงก์ชาติกังวล และสามารถชะลอตัวลงได้ หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ

 

Next Post

ทร.ยกเครื่องเรืออายุ 50 ปี เป็นต้นแบบลดมลพิษ

ศุกร์ พ.ค. 14 , 2021
ผบ.ทร.เปิดตัวเรือข้ามฟาก “แตงโม” อายุ 50 ปี ที่เปลี่ยนจากระบบน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ออกทดลองรับ-ส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยารวม 11 ลำ วันนี้ (14 พ.ค.2564) พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.เป็นประธานเปิดตัวเรือแตงโมพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรือข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยาของกองทัพเรือ ท […]