เปิดภารกิจอาสาสมัครสายด่วน 1668 หาเตียงรับผู้ป่วยโควิด

เปิดภารกิจอาสาสมัครสายด่วนเฉพาะกิจ 1668 รับสาย ตรวจสอบข้อมูล รับฟังอาการ ให้กำลังใจ จัดกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก-เบา และประสานส่งต่อเพื่อหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ COVID-19

วันนี้ (20 เม.ย.2564) ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ติดตามการทำงานของอาสาสมัครสายด่วนเฉพาะกิจ 1668 เพื่อทำหน้าที่สอบถามอาการของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ระหว่างรอเตียงในโรงพยาบาลรับไปรักษา

น.ส.ปนัดดา ภักดีวิวรรธ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การรับสายแต่ละวันนั้นต้องพบกับปัญหาที่หลากหลายจากผู้ป่วย COVID-19 แต่ก็พยายามเป็นผู้ฟังที่ดี และพูดคุยแนะนำ เพื่อให้ปลายสายรู้สึกผ่อนคลายจากความกังวล

คนไข้บางคนไม่ได้เตียง บางคนอาการมากขึ้น ก็ทำให้มีอารมณ์ฉุนเฉียว เราก็ให้เขาได้ระบายก่อน แล้วให้กำลังใจเขา พร้อมแนะนำว่าเขาจะจัดการอย่างไรได้บ้างระหว่างที่รอเตียงอยู่

อย่างไรก็ตาม อาสาสมัครทุกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ ล้วนมีงานประจำ แต่ก็เสียสละเวลา เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด ทำให้แต่ละเคสต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาที

ทันตแพทย์หญิงออนอง มั่งคั่ง หน.ทีมประสานและตอบสนอง สายด่วนเฉพาะกิจ 1668 ระบุว่า ใช้เวลานาน ถ้าผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างมาก ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งข้อความให้ละเอียดและสร้างความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังดำเนินการหาเตียงให้ผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า การทำงานของสายด่วนเฉพาะกิจ 1668 มีทั้งหมด 20 คู่สาย แบ่งออกเป็น 3 ทีม ทั้งรับสาย ตรวจสอบข้อมูล และประสานส่งต่อ โดยจำแนกผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มสี ซึ่งจะมีแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการ

ทั้งนี้ ภาพรวมตั้งแต่เปิดสายด่วน 1668 วันที่ 10 เม.ย.จนถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อโทรศัพท์เข้ามาที่สายด่วน 1668  จำนวน 2,476 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้โทรกลับเยี่ยมติดตาม 2,307 ครั้ง ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น  ขอเตียง 1,204 คน รับเข้าโรงพยาบาล 627 คน โดยอยู่ระหว่างเตียงอีก 509 คน แบ่งเป็น กลุ่มสีแดง 6 คน สีเหลือง 141 คน และสีเขียว 362 คน โดยในช่วงที่ผ่านมา มีประชาชนโทรเข้ามาที่สายด่วน 1668 มากที่สุด 219 คน

 

 

Next Post

ครอบครัวรายได้น้อยยุคโควิดยังมีทางเลือกจำกัด

พุธ เม.ย. 21 , 2021
ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่ยังพุ่งสูงและกระจายทุกพื้นที่ ทำให้มาตรการลดการเดินทางและเคลื่อนย้ายคน โดยการทำงานที่บ้าน ต้องนำกลับมาใช้อีกครั้ง แต่สำหรับครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำและมีเด็กเล็ก เลี่ยงที่จะลดความเสี่ยงได้ยาก วันนี้ (20 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “Work from home” ใช้ไม […]