เทียบมาตรการ COVID-19 ระลอกแรก-ระลอกใหม่

เปิดข้อเปรียบเทียบมาตรการควบคุม COVID-19 ระลอกใหม่กับระลอกแรก มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง ไม่เคอร์ฟิว ล็อกดาวน์ ร้านอาหารเปิดปิดเป็นเวลา ไม่ปิดประเทศและการเดินทาง

วันนี้ (16 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากลือกันสะพัดว่า ศบค.จะประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวอีกครั้ง ทำให้หลายคนจดจ้องว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ จนกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.ยืนยันว่าไม่มีเคอร์ฟิว

นี่คือข้อแตกต่างข้อแรกระหว่างมาตรการ COVID-19 ระลอกแรก กับระลอกใหม่นี้ เพราะเม.ย.ปีที่แล้วประกาศเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. ก่อนและค่อยๆผ่อนคลาย และครั้งนี้ไม่ได้ใช้

แม้ไม่เคอร์ฟิว แต่ร้านสะดวกซื้อในพื้นที่ระบาดสูงสุดสีแดง 18 จังหวัด ก็ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง ถูกกำหนดให้เปิดเฉพาะเวลา 04.00น. และปิดไม่เกิน 5 ทุ่ม

สำหรับศูนย์การค้ากัน เมื่อการระบาดระลอก 1 เคยต้องปิดทำการเหลือแต่โซนขายอาหารนำกลับ ระลอกนี้ ไม่ถูกปิดเพียงแต่เปิดบริการ 21.00 ทุ่ม

ข้อแตกต่างระหว่างระลอกแรก กับครั้งนี้ อีกส่วนคือร้านอาหาร ที่เดิมอนุญาตซื้อกลับเท่านั้น แต่ครั้งนี้ พื้นที่สีแดง 18 จังหวัดนั่งทานในร้านได้ถึง 21.00 น.แต่ถ้าซื้อกลับทำได้ถึง 23.00 น. หากเป็นพื้นที่สีส้ม 59 จังหวัดนั่งทานในร้านได้ถึง 23.00 น. 

ข้อที่ ศบค.ห่วงใยและเข้มงวดเห็นจะเป็นการตั้งวงดื่มสุรา ในการระบาดระลอกแรกถึงขั้นสั่งงดจำหน่ายในหลายจังหวัด แต่สำหรับหนนี้ งดดื่มงดเสริฟในร้านอาหารทั่วประเทศ

ฟิสเนต-สนามกีฬา ยังเปิดได้

ส่วนข้อแตกต่างสำหรับพื้นที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ที่เคยสั่งปิดในการระบาดระลอกแรก ครั้งนี้ พื้นที่สีแดงอนุญาตเปิดได้ถึง 23.00 น. ส่วนพื้นที่สีส้มไม่ได้มีข้อห้ามเอาไว้ อีกส่วนหนึ่งที่ ศบค.ไม่ได้พูดถึงในวันนี้ คือ การระบาดระลอกแรกในเดือนเม.ย. ไทยล็อกดาวน์ประเทศห้ามเที่ยวบินข้ามแดนเข้าออก แต่ขณะนี้เราเริ่มเปิดรับเที่ยวบินจากต่างประเทศตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

เม.ย.ปีนี้ ไม่เหมือนปีก่อน ไวรัสโคโรน่าคือโรคอุบัติใหม่ เป็นเรื่องใหม่ของไทยและของโลก ประชาชนกลัว รัฐบาลกลัว ให้ฝ่ายสาธารณสุขเป็นผู้นำ ออกมาตรการเข้มงวดถึงขั้นล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว กิจการกิจกรรมที่ต้องพบปะผู้คนถูกสั่งปิดแบบเหมารวม บางส่วนไม่สั่งปิดแต่ไม่มีคนใช้บริการ ต่อมาไทยเตรียมการบุคลากร อุปกรณ์ไว้แล้ว พร้อมกับนำเข้าวัคซีน ความรู้ความเข้าใจโรคดีขึ้นมาก แต่การย่อหย่อนพฤติกรรมบางอย่างทำให้เกิดการระบาดขึ้นมาอีก 

ประเด็นหนึ่งที่ทำให้มาตรการครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะเศรษฐกิจครัวเรือน ฐานราก รับไม่ไหวแล้วหากจะกลับไปใช้มาตรการเข้มข้นสูงสุดแบบเดิม รัฐบาลจึงย้ำเสมอว่าไม่ให้กระทบกับการใช้ชีวิตและทำมาหากินของประชาชนมากเกินไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรี ลั่นไม่เคอร์ฟิว-ไม่ล็อกดาวน์คุม COVID-19

เปิด 9 มาตรการหลัง “ไม่เคอร์ฟิว-ไม่ล็อกดาวน์” เริ่มใช้ 18 เม.ย.

Next Post

ไทม์ไลน์ มก. "นิสิต-บุคลากร" ติดเชื้อโควิด 1 สัปดาห์ 40 คน

เสาร์ เม.ย. 17 , 2021
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดไทม์ไลน์นิสิต-บุคลากรติด COVID-19 เพิ่มเติม 10 คน รวมยอดสะสมตั้งแต่ 7-15 เม.ย.พบติดเชื้อทั้งหมด 40 คน พบประวัติมีการเข้าห้องสอบ กินอาหารในห้างสรรพสินค้า และเดินทางด้วยเครื่องบิน วันนี้ (16 เม.ย.2564) เพจเฟซบุ๊กมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ออกประกาศ วันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา […]