อภ.ยันวัคซีน Sinovac ไม่หมดอายุ ไทยกำหนด 6 เดือน ต่างจากจีน

องค์การเภสัชกรรม ยืนยัน วัคซีนป้องกัน COVID-19 ของซิโนแวคที่ฉีดในไทยไม่หมดอายุ เคลียร์ประเด็นหมดอายุไม่เท่ากัน เพราะไทยกำหนดอายุยา 6 เดือน ต่างจากจีนเคลมไว้ 3 ปี จึงแจ้งบริษัทแก้วันหมดอายุ ทำให้วัคซีนต่างล็อตมีวันหมดอายุต่างกัน

วันนี้ (23 เม.ย.2564) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แถลงเกี่ยวกับกรณีวันหมดอายุของวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยระบุว่า ประเทศไทยนำเข้าวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2,000,000 โดส โดยแบ่งเป็นล็อตแรก 200,000 โดส ล็อต 2 จำนวน 800,000 โดส ล็อต 3 1,000,000 โดส และล็อต 4 กำลังจะเข้ามาอีก 500,000 โดส

สำหรับวัคซีนล็อตแรกที่ได้มา เนื่องจากประเทศจีนกำหนดอายุยาไว้ที่ 3 ปี นับจากวันผลิต แพ็กเกจวัคซีนจึงมีเลขวันเดือนปีหมดอายุ 3 ปี คือ ผลิตปี 2021 และจะหมดอายุในปี 2024 แต่องค์การเภสัชกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาข้อมูลพร้อมเอกสารประกอบและกำหนดอายุยาไว้ที่ 6 เดือน 

หลังได้รับการอนุมัติจาก อย. ทางการไทยได้แจ้งไปยังบริษัทซิโนแวคเพื่อให้ทำฉลากยาโดยกำหนดวันหมดอายุเป็น 6 เดือน สำหรับวัคซีนล็อตที่ 2 แต่ในล็อตที่ 3 กลับพบปัญหา เนื่องจากมีหลายประเทศกำหนดอายุยาแตกต่างกัน อีกทั้งความต้องการวัคซีนมีจำนวนมาก บริษัทซิโนแวคจึงไม่ได้มีการแก้ไขวันหมดอายุในฉลากยาให้

แต่ละประเทศกำหนดวันหมดอายุไม่เหมือนกัน ฮ่องกง 1 ปี ไทย 6 เดือน อินโดนีเซีย 6 เดือน ล็อตที่ 3 มีหลายประเทศสั่งเยอะมาก ทำให้บริษัทแก้ไม่ไหว ไทยจึงต้องทำเอง โดยแปะสติ๊กเกอร์ฉลากซึ่งได้รับความเห็นชอบนี้จาก อย.แทน

ส่วนประเด็นที่มีการโพสต์การขีดทับตัวเลข พ.ศ.หมดอายุของวัคซีนนั้น ยืนยันว่า วัคซีนไม่ได้หมดอายุ  และไม่ได้เป็นการกระทำขององค์การเภสัช โดยองค์การเภสัชทำเพียงแปะสติ๊กเกอร์คิวอาร์โค้ดทับไปเท่านั้น หลังจากนี้จะจัดทำหนังสือแจ้งเวียนไปให้โรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อไป

แนะสแกน QR อภ.ข้างกล่องเช็กข้อมูลวัคซีน

ด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ระบุว่า การผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ขณะนี้อยู่ในภาวะเร่งด่วน ทุกประเทศมีความต้องการสูง แต่ในส่วนของการผลิตหากต้องเปลี่ยนฉลากวันหมดอายุไปตามความต้องการของแต่ละประเทศอาจทำให้ผลิตไม่ทันได้

การแปะฉลากวันหมดอายุบนกล่องด้วยความเร่งด่วน ทำให้แปะไม่ทัน จึงแปะคิวอาร์โค้ดแทน หากสแกนคิวอาร์โคดจะพบเอกสารกำกับยาที่จะบอกอายุยาไว้ 6 เดือน ส่วนเรื่องการควบคุมคุณภาพยืนยันว่ายังเป็นไปตามมาตรฐาน

ภญ.ศิริกุล ระบุอีกว่า องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการพิมพ์ฉลากตรงตามที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.ไว้ ให้เหมือนกันครบ 4 ด้าน ส่วนด้านที่เป็นอายุยาจะแปะแค่คิวอาโคด้ เพราะแปะไม่ทัน เพราะเกรงว่า คนจะเข้าใจผิดที่องค์การเภสัชกรรมไปเปลี่ยนอายุยา

นอกจากนี้ กรณีที่องค์การเภสัช ประเมินความคงตัวของยาทำให้กำหนดวันหมดอายุ 6 เดือนนับจากวันที่ผลิตตามที่ขึ้นทะเบียนยาจาก อย. แม้ว่าบริษัทจะกำหนด 3 ปี สิ่งเหล่านี้ที่อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ โดยก่อนการตัดสินใจทุกอย่างได้พิจารณาข้อมูลทุกด้านเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจและไม่ตระหนก

 ฉีดวัคซีนให้คนไทยใกล้แตะ 1 ล้านโดส

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในรอบ 24 ชั่วโมง ฉีดวัคซีนได้ 99,985 โดส ทำให้ขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 964,825 โดส ใน 77 จังหวัด มีคนได้รับวัคซีนไปแล้ว 834,082 คน และฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 130,743 คน

การฉีดวัคซีนก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว วัคซีนล็อตที่มา 1 ล้านโดส ขณะนี้ฉีดไปแล้วประมาณ 300,000 โดส ขณะที่วัคซีนล็อตใหญ่จะมาในเดือน มิ.ย.

ส่วนการฉีดวัคซีนให้บุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 413,117 คน จากทั้งหมดประมาณ 600,000 คน โดยมีการเร่งฉีดในบุคคลากรด้านหน้า จากที่ได้รับข้อมูลมีบุคคลากรทางการแพทย์ ได้รับวัคซีนแล้วประมาณ 90 % ส่วนที่มีการตกหล่นจะเป็นกลุ่มที่ทำงานที่คลินิก ไม่ค่อยได้ติดต่อประสานงานกับ สสจ. หรือ ทาง กทม. โดยจะมีการเก็บตกในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ครบถ้วน

หากสังเกตดูระยะหลังกลุ่มที่มีการเสียชีวิต ส่วนใหญ่จะมีโรคไต หัวใจ ร่วมด้วยอาการก็จะคล้าย ๆ กันคือ มีปอดอักเสบรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะแนวทางการรักษาอาจมีการปรับเปลี่ยน

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โซเชียลกังขา! วันหมดอายุวัคซีน Sinovac 6 เดือน 1 ปี หรือ 3 ปี ?

 

Next Post

5 แนวการจัดการ "ศพ" ผู้ติดเชื้อโควิด

ศุกร์ เม.ย. 23 , 2021
5 แนวทางการจัดการศพ ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้ (23 เม.ย.) สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยวิธีจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพื่อการจัดการเชื้อ โดยมีแนวทางจัดการศพผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ดังนี้ 1. เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต สารคัดหลั่งที่อยู่ในศพยังสามารถแ […]