หมอเด็กเตือนผู้ใหญ่ ระวังนำเชื้อ COVID-19 ไปติดลูกหลาน

หมอเด็ก รพ.นครพิงค์ เชียงใหม่ ระบุ ใน จ.เชียงใหม่ พบเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ติดเชื้อมากถึง 99 คน อายุน้อยที่สุดเพียง 3 เดือน วอนผู้ใหญ่ดูแลตัวอย่าง อย่านำเชื้อโรคไปติดลูกหลาน

วันนี้ (28 เม.ย.2564) พญ.สุภารัชต์ กาญจนะวณิชย์ กุมารแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ โพสต์ข้อความบนเพจของ โรงพยาบาลนครพิงค์ เพื่อเป็นความรู้กรณีเด็กเล็กติดเชื้อไวรัส COVID-19 ระบุว่า

เมื่อเด็กเล็กติดเชื้อโควิด
การระบาดของโรคโควิดระลอกนี้ของ จ.เชียงใหม่ มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆ

จากสถิติผู้ป่วย โควิด-19 ใน จ.เชียงใหม่ จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2564 มีผู้ป่วย โควิด-19 สะสม 3,359 ราย พบว่า มีการติดเชื้อในครอบครัวค่อนข้างมาก และเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ถึง 99 ราย (2.9 %)

 

แม้ว่าผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคโควิดที่รุนแรงถึงชีวิตได้เช่นกัน

การดูแลผู้ป่วยเด็กในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลนครพิงค์ เป็นโรงพยาบาลหลักในการดูแล และให้คำปรึกษากรณีเด็กติดเชื้อ โควิด-19 โดยทีมกุมารแพทย์ของโรงพยาบาลนครพิงค์

รพ.นครพิงค์รับดูแลผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงสูง และเด็กที่มีอาการ ส่วนเด็กที่ไม่มีอาการ หรือไม่มีความเสี่ยง สามารถให้การดูแลที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลสนาม เช่น กรณีที่ศูนย์เด็กเล็ก ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด ได้

ที่ผ่านมา รพ.นครพิงค์ ได้ให้การรักษาผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ ไป 12 ราย พบว่า เป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีถึง 9 ราย โดยเด็กที่อายุน้อยที่สุด ที่ติดเชื้อโควิด มีอายุเพียง 3 เดือน

เด็กส่วนใหญ่มีอาการระดับปานกลาง (ระดับสีเหลือง) 8 ราย (73 %) คือมีผลเอกซเรย์ปอดผิดปกติ แต่ไม่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ มีเด็ก 1 ราย ที่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ และมีเด็ก 2 ราย ที่มีความเสี่ยงแต่ไม่มีอาการ

ในเด็กจำนวน 12 รายนี้ อาการพบบ่อยได้แก่ น้ำมูก 82 % และมีไข้ 45 % นอกจากนั้นมีอาการถ่ายเหลว ทานได้ลดลง เล่นลดลง, ซึม หรือมีผื่น ในรายที่มีอาการหรือมีความเสี่ยง ที่จะเกิดโรครุนแรง จะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ หลังจากที่ได้ให้การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ไป 10 จาก 12 ราย เด็กทุกรายมีอาการดีขึ้นหลังจากได้ยา

 

การที่เด็กป่วยเป็นโควิด-19 มีผลกระทบทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ที่ทีมแพทย์ผู้รักษา จำเป็นต้องมองให้รอบด้าน เป็นองค์รวม เช่น กรณีตรวจพบเด็กติดเชื้อ โควิด-19 แต่พ่อแม่ตรวจไม่พบเชื้อ หรือพ่อแม่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 แต่เด็กไม่ติดเชื้อ ซึ่งหลักของการควบคุมโรคติดต่อ จำเป็นต้องมีการแยกเด็กที่ติดเชื้อ โควิด-19 และกักตัวนานอย่างน้อย 14 วัน

การกักตัวเด็กเล็กที่ติดเชื้อ โควิด-19 ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ทั้งการถูกจำกัดพื้นที่ การที่ต้องแยกจากพ่อแม่หรือครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังดูแลตนเองไม่ได้

 

โดยทั่วไปแล้วในเด็กก่อนวัยเรียน เด็กมักจะอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ จึงมีโอกาสที่จะสัมผัสความเสี่ยงได้น้อย การได้รับเชื้อของเด็กกลุ่มนี้ จึงเกิดจากผู้ใหญ่ที่นำเชื้อมาติดเด็ก ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่เลี้ยง

ดังนั้น จึงอยากจะสื่อสารถึงทุกท่าน ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ งดไปพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันทั้งตัวท่านเองและเด็กๆ ที่อาจจะต้องมาติดเชื้อจากท่าน แล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

Next Post

นครพนม ล็อกดาวน์ 2 หมู่บ้านคลัสเตอร์ "เพื่อนรักฝากเชื้อ"

พฤหัส เม.ย. 29 , 2021
นครพนม เปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 อีก 4 คนพบโยงสถานบันเทิง กับคลัสเตอร์งานบุญบ้านโคกกลางที่เพื่อนนำเชื้อมาติด โดยพบมีเด็กชายวัย 11 ปีและอีก 33 คนกลุ่มเสี่ยง เสนอล็อกดาวน์ 2 หมู่บ้านต่อจนถึง 1 พ.ค.นี้ วันนี้ (28 เม.ย.2564) นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม แถลงสถานการณ์ COVID-19 ในพื้น […]