หมอคาดชายวัย 62 ปี เสียชีวิต ไม่เกี่ยว COVID-19

อธิบดีกรมการแพทย์ คาดการเสียชีวิตของชายวัย 62 ปี ไม่เกี่ยวกับป่วย COVID-19 แต่น่าจะเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ยืนยันรักษาตามมาตรฐาน

วันนี้ (9 พ.ค.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีชายวัย 62 ปี ป่วย COVID-19 รักษา 10 วัน ออกจากโรงพยาบาล และเสียชีวิตระหว่างกลับบ้าน ยืนยันว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาตามมาตรฐานระหว่างที่รักษาพยาบาลในฮอสพิเทล ซึ่งสถาบันมะเร็งเป็นผู้ดูแลและอยู่ครบ 14 วัน ตลอดการรักษาผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เอกซเรย์ปอด ปอดก็ปกติและผู้ป่วยยืนยันจะกลับบ้านเอง ทั้งที่เจ้าหน้าที่สอบถามแล้วว่าให้แจ้งญาติมารับหรือไม่ เบื้องต้นคาดว่าการเสียชีวิตน่าจะเกี่ยวกับโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เพราะตามปกติของผู้ป่วย  COVID-19 เป็นไปไม่ได้ที่จะมีอาการเฉียบพลัน หรือ ทรุดลงโดยไม่มีสาเหตุ สถาบันนิติเวชอยู่ระหว่างตรวจชันสูตร

นพ.สมศักดิ์ ย้ำว่ากรมการแพทย์มีแนวทางเวชปฏิบัติรักษาผู้ป่วย COVID-19 ตามกระบวนการรักษาผู้ป่วย COVID-19 กำหนดให้ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือ ในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อหรือนับจากวันที่เริ่มมีอาการ

ส่วนเกณฑ์การพิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นและภาพรังสีปอดไม่แย่ลง, อุณหภูมิไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส ต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง

สธ.จี้ กทม.เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกให้เร็วขึ้น

นพ.สมศักดิ์ ยังระบุอีกว่า การระบาดระลอกเดือน เม.ย.นี้ พบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องปรับแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้น ในผู้ป่วยสีเขียว ไม่มีอาการ แต่มีโรคร่วม เพื่อช่วยลดอาการปอดอักเสบ แต่การจะลดความรุนแรงของโรค ไม่ได้อยู่ที่การให้ยาเร็วเท่านั้น ต้องค้นหาคัดกรองผู้ป่วยให้เร็วขึ้นด้วย

ขณะนี้การคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่คลองเตยยังทำได้ช้า จากผู้ป่วยสีเขียวจึงกลายเป็นสีเหลือง โดยส่งตัวมาศูนย์แรกรับส่งต่อผู้ป่วยโควิด ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติประมาณ 7-8 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสีเหลือง 1-2 คน และพบว่าจากเดิมในพื้นที่คลองเตยพบผู้ป่วยสีเหลืองแค่ร้อยละ 4-5 แต่ปัจจุบันพัฒนาไปเป็นร้อยละ 10

จึงได้มอบหมายให้ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ หารือกับสำนักอนามัย และ สำนักการแพทย์ กทม. เจ้าของพื้นที่ เพื่อให้เร่งเร่งคัดกรอง และนำตัวผู้ป่วยเข้าระบบให้เร็วที่สุด ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีการอาการรุนแรงมากขึ้น

ด้านนางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ยอมรับว่า หลังดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกชุมชนในพื้นที่เสี่ยงของ กทม.พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเมื่อวานนี้พบผู้ติดเชื้อกว่า 300 คน มีทั้งผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลือง

ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะต้องเข้ารับการดูแลภายในโรงพยาบาลสนาม หรือ ฮอสพิเทล แต่ปัญหา คือ ฮอสพิเทล จะขอรับผู้ติดเชื้ออายุไม่เกิน 50 ปีขึ้นไป ทำให้สำนักการแพทย์ต้องส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง และโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ ซึ่งขณะนี้ประสบภาวะคนไข้ล้นโรงพยาบาล อย่างเช่น ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

อย่างไรก็ตาม หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก กทม.คงต้องประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลสนามของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนของศูนย์แรกรับของอาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ และโรงพยาบาลสนามที่กำลังเปิดเพิ่มเติม

Next Post

ระลอกใหม่! บุคลากรแพทย์ติดโควิด 512 คน กระจายใน 57 จว.

อาทิตย์ พ.ค. 9 , 2021
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 พบบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อสะสมในระลอกใหม่แล้ว 512 คน ใน 57 จังหวัด พยาบาลและผู้ช่วยมากถึง 34% ขณะยอดป่วยรายวันไทยเพิ่ม 2,101 คน และหายป่วยเพิ่ม 2,186 คน วันนี้ (9 พ.ค.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกติดเชื้ […]