สสส.-เครือข่ายคนไทยไร้พุง ชี้คนไทย “อ้วนลงพุง” กว่า 20 ล้านคน

สสส.-เครือข่ายคนไทยไร้พุง เผยพบคนไทย “อ้วนลงพุง” กว่า 20 ล้านคน เสี่ยงป่วยโรค NCDs ชี้โรคอ้วนทำสุขภาพแย่ ภูมิคุ้มกันต่ำ เร่งสร้างสังคม “ลดหวาน มัน เค็ม” ตระหนักภัยร้าย “น้ำหนักเกิน” เนื่องใน “วันอ้วนโลก”

วันนี้ (4 มี.ค.2564) ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกพบ “คนอ้วน” มากกว่า 800 ล้านคน สะท้อนปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ขณะที่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก จากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ

ในปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะอ้วน และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน หรือ อ้วนลงพุง กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs

ทั้งนี้ “สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) กำหนดให้มีวันอ้วนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มี.ค. มีเป้าหมายให้ทุกคนได้ตระหนักถึงภัยคุกคามจาก “น้ำหนักเกิน” เพราะความอ้วน คือ จุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ไม่ดี ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้าหากทุกคนรู้วิธีป้องกันและดูแลเรื่องอาหารและมีกิจกรรมทางกาย จะช่วยลดความเสี่ยงได้

 

ชี้โรคอ้วนทำภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงโรค – ไวรัส

ด้าน ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และนักโภชนาการอิสระ ระบุว่า การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ เพราะการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ บริโภคหวาน มัน เค็มมากเกินไป ใช้ชีวิตไม่สมดุล ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเกินและส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น

ส่วนที่คิดว่าโรคอ้วนมาจากพันธุกรรม ในทางการแพทย์พบว่าอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย สิ่งที่ดีที่สุด คือ กินผัก-ผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม มีกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน วิ่งปั่นจักรยาน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้ร่างกาย เพระความอ้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวาย เก๊าท์ ตับแข็ง 

รศ.พญ.พิมพ์ใจ อันทานนท์ กรรมการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงติด COVID-19 มากกว่าคนปกติ แต่ในทางการแพทย์พบว่าคนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำถ้าติด COVID-19 อาจจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง ดูได้จากปรากฏการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนอ้วนจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงกลุ่มแรก ๆ เพราะคนอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแรก ๆ ที่เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs

แนะเทคนิคกินเท่าใช้พลังงาน – เน้นเดินวันละหมื่นเก้า

พ.ท.หญิง พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกคนสามารถป้องกันไม่ให้อ้วนได้ โดยกินอาหารที่พอเหมาะให้ได้พลังงานเพียงพอกับงานและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันคนอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนัก สามารถเน้นการลดปริมาณอาหารที่กินให้น้อยลงได้ด้วยการเลือกรูปแบบการกินอาหารแบบใดก็ได้ เช่น แบบอาหารคีโต (Keto diet) กินแบบจำกัดเวลาหรืองดอาหารช่วงยาวในแต่ละวัน (Intermittent Fasting, IF) หรืออาหาร 2:1:1 แต่ต้องกินให้ถูกหลักโภชนาการ เพื่อไม่ให้เกิดโทษกับร่างกาย

น.ส.อรณา จันทรศิริ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกาย หมายถึง กิจกรรมที่มีการใช้พลังงานในทุกรูปแบบ “ทุกขยับนับหมด” จึงสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องรอเฉพาะเมื่อมีเวลาออกกำลังกาย การมีกิจกรรมทางกายประจำ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดไขมัน ควบคุมน้ำหนัก และป้องกันโรคเรื้อรังได้ เมื่อทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพแข็งแรงและจิตแจ่มใส แนะนำให้คนอ้วนที่เริ่มลดน้ำหนักเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น อาจเริ่มเดินให้ครบ 8,000-10,000 ก้าวต่อวัน จากนั้นให้คิดถึงโอกาสที่จะพิชิตเป้าหมายแต่ละวันให้สำเร็จ เช่น การชวนเพื่อนที่ออกกำลังอยู่แล้วไปออกกำลังกายด้วยกัน หาสถานที่และปรับวิถีชีวิตให้สามารถมีกิจกรรมทางกายได้จนเป็นนิสัย

 

Next Post

เลื่อนแล้ว! สทศ.เปลี่ยนวันสอบ O-NET จาก 28 เป็น 29 มี.ค.นี้

พฤหัส มี.ค. 4 , 2021
จากกรณีกระแส #เลื่อนให้กันได้มั้ย ล่าสุด สทศ.เปลี่ยนแปลงกำหนดการสอบ O-NET ม.6 จากเดิมสอบวันที่ 27 – 28 มี.ค. 64 เป็นสอบวันที่ 27 และ 29 มี.ค. 64 แทน โดยเวลาสอบ รหัสวิชา รายวิชา และระยะเวลา ให้เป็นไปตามตารางสอบเดิม วันนี้ (4 มี.ค.2564) จากกรณีกระแส #เลื่อนให้กันได้มั้ย บนสื่อสังคมออนไลน์ ที่นักเรียนช […]