สสจ.บุรีรัมย์แจงต้องการให้กลุ่มเสี่ยง-อายุ 18 ปีขึ้นไป เข้าถึงวัคซีน ป้องกันแพร่ระบาด

สสจ.บุรีรัมย์ แจงเจตนาออกประกาศ เพราะต้องการให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ขึ้นไป ไปลงทะเบียน ประเมินความเสี่ยง และฉีดวัคซีน ในระบบฐานข้อมูล เพื่อให้คนบุรีรัมย์ เข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อป้องกันแพร่ระบาด

วันนี้ (14 พ.ค.2564) คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ออก
แถลงการณ์คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ฉบับที่ 11/2564 เรื่อง ข้อมูลการลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงในการรับบริการฉีดวัคซีน จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ระบุว่า

ตามที่ได้มีประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์เรื่องการป้องกันระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกคน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภูมิลำเนาหรือบุคคลที่มาปฏิบัติงานในจังหวัดบุรีรัมย์ และหรือพักอาศัยในจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ทำการประเมินตนเอง และแสดงความจำนงต่อการรับวัคซีนโควิด-19

 

ซึ่งสำหรับจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีช่องทางการดำเนินงานได้แก่ 1) ต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในชุมชน/หมู่บ้าน ที่ท่านพักอาศัยอยู่ โดยกระบวนการ อสม. เคาะประตูบ้าน 2) ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ QR code BURIRAM IC หรือ 3) แสดงความจำนงผ่านศูนย์ประสานงานรับบริการวัคซีนโควิด-19 ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน

ซึ่งเป็นระบบที่ทางจังหวัดบุรีรัมย์ได้ดำเนินการเพื่อปรับให้เหมาะสมกับการลงทะเบียนและการให้บริการวัคซีนของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ อสม. เคาะประตูบ้านเพื่อสอบถามข้อมูลความต้องการที่เป็นจริง แล้วเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะนำเข้าในฐานข้อมูลระบบ BURIRAM IC เพื่อจัดกลุ่มให้บริการตามนโยบาย ลดติดเชื้อ ลดตายในกลุ่มเสี่ยงให้เหมาะสมกับการป้องกันการระบาดและการเสียชีวิตให้มีประสิทธิภาพ

ซึ่งหลังดำเนินการ ได้มีประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ มีข้อมูลผู้ลงทะเบียนในระบบ BURIRAM IC แล้วทั้งสิ้น 355,287 ราย โดยแสดงความจำนงต้องการรับฉีดวัคซีนเบื้องต้น ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 จำนวน 214,970 ราย ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลนำเข้าระบบ MOPH IC ของกระทรวงสาธารณสุข ในการวางแผนการฉีดวัคซีนของจังหวัดบุรีรัมย์ในลำดับถัดไป

ขอให้ประชาชนทุกคนในจังหวัดบุรีรัมย์ได้ประเมินตนเอง และแสดงความจำนงต่อการรับวัคซีนโควิด-19 ตามช่องทางที่กำหนดไว้ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ต่อไป

ออกคำสั่งฉบับที่ 13/2564

ต่อมาวันที่ 13 พ.ค.2564 คณะกรรมการโรคติดต่อฯ คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ฉบับที่ 13/2564 เรื่อง การป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2564 ระบุว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ในประเทศไทย และหลายจังหวัด ยังคงมีอัตราป่วยและอัตราป่วยตายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อให้การควบคุมสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 22 (7) มาตรา 34 (2) และมาตรา 45 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ข้อ 6 (1) ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2563 และข้อ 7 (1) ของกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ในคราวประชุม ครั้งที่ 21/2564 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564

จึงให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ เรื่อง การป้องกันการระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2564 แล้ว ให้ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 13/2564 เรื่อง การป้องกันการระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ดังมีข้อความต่อไปนี้

1.เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ ให้ประชาชนทุกคน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือบุคคลที่มาปฏิบัติงานในจังหวัดบุรีรัมย์ และหรือพักอาศัยใน จ.บุรีรัมย์ ทำการประเมินตนเองตามแบบประเมินความเสี่ยง COVID-19 จ.บุรีรัมย์ ที่กำหนดตามเอกสารแนบท้ายคำสั่งนี้ ต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ในชุมชน/หมู่บ้าน ที่ท่านพักอาศัยอยู่

โดยกระบวนการ อสม.เคาะประตูบ้าน หรือผ่านระบบออนไลน์ QR code BURIRAM IC ในฐานข้อมูลกลางจังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับบริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือผ่านศูนย์ประสานงานรับบริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของโรงพยาบาล/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน เกี่ยวกับความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่จัดกลุ่มการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)

2.ในกรณีที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เจ้าหน้าที่สาธารสุขตรวจพบหรืออาจตรวจพบว่าบุคคลในหรือบุคคลดังกล่าวในข้อ 1 เป็นผู้ที่มีความเสี่ยง อาจมีความเสี่ยงที่จะติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ให้เจ้าพนักงานนั้นมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่มีความเสี่ยง อาจมีความเสี่ยงที่จะติดโรคนั้น ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฯ ตามวัน เวลา และสถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานนั้นกำหนด เพื่อป้องกันมิให้โรคคิดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่หรืออาจแพร่ออกไป

3.หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามข้อ 1 มีโทษตามนัยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท และผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามข้อ 2 มีโทษตามนัยมาตรา 51 แห่ง พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,00 บาท และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สั่ง ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2564

นายธัชกร หัตถาธนากูล
ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์
ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์
ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดบุรีรัมย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นมีประชาชนจำนวนหนึ่ง สะท้อนความคิดเห็น ผ่านสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก เช่น หากไม่แจ้งความจำนงจะมีความผิดหรือไม่, ข้อความในประกาศเนื้อหาไม่ชัดเจน, หากฉีดแล้วเกิดอะไรขึ้นใครรับผิดชอบ เป็นต้น

 

สสจ.บุรีรัมย์ชี้แจงทำความเข้าใจ

ต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. นายพิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ออกมาชี้แจงผ่านเพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์

นายพิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า กรณีมีการแสวิพากษ์วิจารณ์ ประกาศคณะกรรมการควบคุมโรค มีประชาชนมีความกังวลว่า ถ้าหากไม่ได้ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 จะมีความผิดหรือไม่ อย่างไร

ซึ่งเจตนาที่ออกประกาศฉบับดังกล่าว คือต้องการส่งเสริมให้ประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หรือที่บุคลที่อาศัยอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์เข้าไปบันทึกข้อมูลในระบบ บุรีรัมย์ ไอซี (BURIRAM IC) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลบริหารวัคซีนของจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้คนบุรีรัมย์ได้เข้าถึงวัคซีนในการควบคุมโรคครั้งนี้

อยากให้ประชาชนชาวบุรีรัมย์ เข้าใจว่า สถานการณ์ปัจจุบันโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายมีการแพร่ระบาดยืดเยื้อ ยาวนาน หากยังปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ไปเรื่อยๆ เลือกจะฉีด หรือไม่ฉีดตามใจตัวเอง จะส่งผลให้ไม่สามารถจัดการควบคุมโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์

 

จึงขอความร่วมมือประชาชน ได้เข้าไปบันทึกข้อมูลในระบบเพื่อประเมินตนเอง แสดงความจำนง หรือไม่จำนงในการฉีดวัคซีนให้ชัดเจน เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่แสดงความจำนงก่อนเป็นอันดับแรก ผู้ที่แสดงความจำนงในภายหลังก็จะได้รับวัคซีนตามลำดับให้ครอบคลุมมากที่สุด

ส่วนในอนาคตเมื่อมีคนส่วนมากฉีดแล้ว และยังเหลือคนส่วนน้อยที่ยังไม่ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกัน และมีอาชีพเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง กลุ่มนี้เรียกว่า กลุ่มเสี่ยง มีความเสี่ยงในการที่จะแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้ในอนาคต จึงอยากให้คนกลุ่มนี้ รีบตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็วที่สุดหรือไม่

ในอนาคตผู้ที่ไม่ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกัน ก็จะมีมาตรการต่างๆดำเนินการต่อไปในอนาคต เช่นไม่สามารถไปร่วมทำกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ ได้ หรือมีข้อจำกัดในการเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ รวมถึงการดำเนินการตามกฎหมาย

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวอีกว่า อยากให้ชาวบุรีรัมย์เข้าใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น ต้องการให้การควบคุมโรคสิ้นสุดโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ชาวบุรีรัมย์กลับมาใช้ชีวิต ประกอบอาชีพ ตามวิถีปกติสุขให้เร็วที่สุด

Next Post

Better memristors for brain-like computing

เสาร์ พ.ค. 15 , 2021
TSUKUBA, Japan, May 15, 2021 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – Scientists are getting better at making neurone-like junctions for computers that mimic the human brain’s random information processing, storage and recall. Fei Zhuge of the Chinese Academy of Sciences and colleagues […]