สปสช.เตรียมงบฯ 100 ล้านเยียวยาคนมีอาการแพ้วัคซีนโควิด-19

เลขาธิการ สปสช. ระบุจัดเตรียมงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน COVID-19 หากแพทย์ในฐานะอนุกรรมการพิจารณาแล้วว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน

วันนี้ (16 พ.ค.2564) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ฉบับที่ 5 เรียบร้อยแล้ว

เบื้องต้นได้จัดสรรงบประมาณไว้ 100.32 ล้านบาท สำหรับจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน COVID-19 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.2564

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนไปแล้วระยะหนึ่ง ขณะนี้มี 2 เขตที่เสนอข้อมูลการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน คือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 218 คน และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี อีกจำนวน 49 คน ส่วนเขตอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล

ในส่วนของ สปสช.เขต 1 ซึ่งมีผู้ยื่นขอเยียวยา 218 คน ตัวเลขถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ฉีดไปแล้วทั้งหมด 91,551 เข็ม คิดเป็น 0.24% และกลุ่มที่มีอาการรุนแรงมีแค่ 0.05% เท่านั้น ซึ่งคำว่ามีอาการรุนแรง ไม่ใช่อาการรุนแรงน่ากลัวแบบเลือดตกยางออกหรือมีผลจนอาจเสียชีวิตแต่อย่างใด เป็นเพียงวิธีการนับของเขต 1 ว่าผู้ที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลก็นับเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงแล้วเท่านั้น

จาก 218 รายนี้ กว่าครึ่งมีอาการเล็กน้อย เช่น เป็นไข้นิดๆ หน่อยๆ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนกลุ่มที่มีอาการรุนแรงนั้นคือไข้สูงจนต้องนอนพักโรงพยาบาล ส่วนอาการรุนแรงที่สุดที่พบคือมีอาการชาเท่านั้น

จากข้อมูลนี้สะท้อนว่าการรับวัคซีน COVID-19 มีความปลอดภัย เพียงแต่การที่ สปสช.กำหนดวิธีการเยียวยาก็เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าหากมีอาการไม่พึงประสงค์ก็จะได้รับการดูแล

ภาพจาก สปสช.

ภาพจาก สปสช.

 

นพ.จเด็จ ให้สัมภาษณ์ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” เพิ่มเติมว่า หากผู้ที่ได้รับวัคซีน COVID-19 เกิดอาการไม่พึงประสงค์ สามารถยื่นเรื่องขอเยียวยาผ่านทางโรงพยาบาลที่ฉีดวัคซีน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานเขตสุขภาพได้ โดยแพทย์ในฐานะอนุกรรมการจะพิจารณาว่าอาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ หรืออาจจะมีความเกี่ยวข้องในลักษณะที่ทำให้เจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถทำงานได้ หรือมีความบาดเจ็บต่อเนื่องตามหลักกฎหมาย เป็นต้น

หากพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็จะพิจารณาตามความรุนแรงของอาการ ซึ่งมี 3 ระดับ คือ การเจ็บป่วยที่อาจทำให้ขาดงานระยะหนึ่ง จะได้รับการเยียวยาไม่เกิน 100,000 บาท, หากทำให้พิการ สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จะได้รับการเยียวยาไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเสียชีวิต จะได้รับการเยียวยาไม่เกิน 400,000 บาท หากผู้เสียหายไม่พอใจกับผลการพิจารณาก็สามารถอุทธรณ์ได้

ทั้งหมดนี้เป็นเบื้องต้นที่ไม่ต้องพิสูจน์ถูก-ผิด หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็จ่ายเบื้องต้นได้เลย คล้ายมาตรา 41 รวมถึงเหตุสุดวิสัยด้วย

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน COVID-19 เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ www.nhso.go.th

 

Next Post

เร่งดับไฟไหม้โรงงานพลาสติก ย่านสุขาภิบาล 5

จันทร์ พ.ค. 17 , 2021
เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานพลาสติก ย่านสุขาภิบาล 5 เจ้าหน้าที่ระดมรถฉีดน้ำและโฟมสารเคมี สกัดไม่ให้ไฟลุกลาม เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุและจุดต้นเพลิง วันนี้ (16 พ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยอาสาสมัคร เร่งระดมฉีดน้ำเพื่อควบคุมเพลิงไหม้โรงงานพ […]