สธ.เผยไทยพบติดเชื้อ 967 คน ขอเข้มมาตรการคุมระบาด

สธ.เผยวันนี้ (11 เม.ย.64) ไทยพบติดเชื้อ 967 คน สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง หวังเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดรอบใหม่ ขอ 2 สัปดาห์ประเมินมาตรการปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัด ด้าน นพ.ยง ย้ำวัคซีน 2 ชนิดฉีดในไทยมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (11 เม.ย.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงสถานการณ์ COVID-19 ประจำวัน และแนวทางการลดการแพร่ระบาด รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในไทย ดังนี้

ไทยป่วยเพิ่ม 967 คน 

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงสถานการณ์ ว่า หลายประเทศในช่วงของการระบาดครั้งใหม่นี้ หลังมีการระบาดสูงสุดช่วงเดือน ธ.ค.63 – ม.ค.64 ผู้ติดเชื้อลดลงในเดือน ก.พ.64 และเดือน มี.ค.เริ่มเพิ่มขึ้น วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 7 แสนคน สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง ขณะที่ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 967 คน โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 964 คน และติดเชื้อจากต่างประเทศ 3 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

 

ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนยังคงมีการระบาด โดยเฉพาะกัมพูชาที่วันนี้พบผู้ติดเชื้อกว่า 477 คน ขอให้ประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนเพิ่มระมัดระวังหากพบเห็นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้ามาในประเทศไทย ขณะที่การระบาดรอบใหม่เดือน เม.ย.64 สถานการณ์ในประเทศค่อนข้างน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่รักษาหาย ขณะนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ 8 คน

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 10 เม.ย.64 เข็มที่ 1 จำนวน 485,957 คน เข็มที่ 2 จำนวน 69,439 คน ขณะที่อัตราป่วยตายในภาพรวมร้อยละ 0.3 ไทยยังน้อยภาพรวมของโลกกว่า 7-8 เท่า ต้นเดือน เม.ย.นี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นชัดเจน มีการดำเนินมาตรการเข้มงวด เช่น ปิดสถานบันเทิง ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้

ขณะที่ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่และสะสม วันที่ 1 เม.ย. – 11 เม.ย.64 มากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.กรุงเทพฯ 2.ชลบุรี 3.เชียงใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 4.นราธิวาส เกี่ยวกับการพบผู้ติดเชื้อในเรือนจำ และ 5.สมุทรปราการ โดยกรณีของ จ.เชียงใหม่ เริ่มจากผู้ติดเชื้อ 9 คนและกระจายในสถานบันเทิงหลายแห่งในจังหวัด ทำให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากและรวดเร็ว ผู้ที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงมาแล้วขอให้สังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน กรณีมีอาการรีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้การระบาดของผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวกับสถานบันเทิง กระจายไปใน 55 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 96.41% ญี่ปุ่น 1.62% จากเคสทองหล่อ และอื่น ๆ 1.97% ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 20-29 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง

เข้มงวดมาตรการคุมแพร่กระจาย  

เข้มาตรการคุมแพร่กระจาย ขณะที่กรมควบคุมโรค ได้ศึกษาและคาดการณ์สถานการณ์ระบาดไวรัส COVID-19 รอบใหม่เดือย เม.ย.นี้ โดยระบุว่า จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น ปิดสถานบันเทิง มาตรการส่วนบุคคล เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ลดการอยู่ร่วมกัน และมาตรการองค์กรคือการให้ทำงานที่บ้าน ซึ่งการปิดสถานบันเทิงช่วยลดผู้ติดเชื้อ 25% การปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากากอนามัย จะช่วยลดผู้ติดเชื้อ 30% การให้บุคลากรทำงานที่บ้านช่วยลดผู้ติดเชื้อ 15% และการลดการร่วมกลุ่มช่วยลดผู้ติดเชื้อ 15%

ดังนั้นการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยรายใหม ระยะ 1 เดือนข้างหน้า หากดำเนินการทุกมาตรการของกรมควบคุมโรค คือ ปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยง ปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล ลดกิจกรรมรวมตัวและทำงานที่บ้าน จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 391 คน หรือสูงสุดที่ 483 คน

 

นพ.โสภณ ยังตอบคำถามถึงการดูแลผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในขณะนี้โดยย้ำว่า ไทยยังมีนโยบายให้ผู้ติดเชื้อรักษาตัวใน รพ. ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เข้าตรวจเชื้อจำนวนมาก และกลับบ้านไปรอฟังผล อาจใช้เวลา 1-2 วัน ซึ่งกระทรวงฯมีคำสั่งให้บริหารจัดการเตียงอย่างเป็นระบบ ล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิด รพ.สนาม 480 เตียง รับผู้ป่วยระยะแรก กองทัพตั้ง รพ.สนามเพิ่ม และกระทรวงสาธารณสุขประสาน รพ.เอกชน และโรงแรม เพื่อจัดตั้งเป็น รพ.สนาม เพื่อให้ รพ.ปกติสามารถรับผู้ป่วยได้ และหลังจาก 2 สัปดาห์จะประเมินการปิดสถานบันเทิงใน 41 จังหวัดอีกครั้งว่าจะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงประเมินสถานบันเทิงในจังหวัดอื่น ๆ หากพบการติดเชื้ออาจจะขยายการปิดเพิ่มในจังหวัดอื่น แต่ขณะนี้ขอให้เข้มงวดการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด

นพ.โสภณ ตอบคำถาม กรณีประชาชนทั่วไปว่าจะได้รับวัคซีนเมื่อใด ว่า ขณะนี้วัคซีน “ซิโนแวค” จากจีน เน้นให้วัคซีนกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ส่วนประชาชนทั่วไปจะเป็นวัคซีนที่ผลิตในไทยในช่วงเดือน มิ.ย.โดยเปิดจองรับวัคซีนเดือน พ.ค.นี้

ย้ำวัคซีนไทยมีประสิทธิเภาพ

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกาที่ไทยใช้ในการฉีดเพื่อป้องกันและควบคุมไวรัส COVID-19 ว่า วัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกาที่ไทยใช้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการป้องกันการเสียชีวิตจึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจ ทั้งนี้ วัคซีนแอสตราเซเนกาสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์และไม่กลายพันธุ์โดยประสิทธิภาพแทบไม่ต่างกัน โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษ สามารถป้องกันได้

 

ทั้งนี้ สายพันธุ์ไวรัสที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน คือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิลที่กลายพันธุ์ มีการเปลี่ยนในตำแหน่งสำคัญที่ทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนเกาะหรือจับได้น้อยลงอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงบ้าง ขณะที่วัคซีนที่มีการทดสอบใหม่ ทั้งโนวาแวค และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เมื่อทดสอบในแอฟริกาใต้ประสิทธิภาพจะลดลง แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรคได้ สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ใครที่เดินทางมาจากแอฟริกา บราซิล หรือที่ต่างๆ จะมีการ Quarantine เป็นวิธีการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์เข้าสู่ไทย แต่แม้ทำเต็มที่ก็มีสายพันธุ์อังกฤษหลุดเข้ามา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีวัคซีนทำให้สามารถเคลียร์สายพันธุ์ทั้งหมด ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์พื้นบ้านของเราออกไปได้หมด ต่อไปเมื่อมีผู้ติดเชื้อก็สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้นว่าเป็นสายพันธุ์ที่หลุดรอดมาหรือไม่ และกำจัดออกไปได้

นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปกว่า 700 ล้านโดส ยังไม่พอต่อประชากร 7,000 ล้านคน ถ้าต้องการให้โรคลดลงหรือยุติจะต้องฉีดวัคซีน 10,000 ล้านโดส หรือฉีดให้ประชากร 5,000 ล้านคน หริอครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวันละ 15 ล้านโดส ต้องใช้เวลา 2 ปีจะถึงตัวเลขเป้าหมายแต่หากเร่งฉีดวันละ 30 ล้านโดส จะบรรลุเป้าหมายภายใน 1 ปี

ขณะที่ การฉีดวัคซีนในประเทศสหรัฐฯและจีน จะมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก แต่อิสราเอลฉีดในประชาชนหมู่มาก โดยใช้วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเมื่อฉีดไปจำนวนมากทำให้ผู้ป่วยลดลงอย่างมาก คนไข้ต่อวันเหลือน้อยอัตราการเสียชีวิตเหลือวันละไม่ถึง 10 คน จากเดิมวันละ 60 คน

นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่ วัคซีนแอสตราเซเนกาซึ่งฉีดในอังกฤษเป็นจำนวนมาก จำนวนผู้ป่วยต่อสัปดาห์ลดลงและใกล้จะเปิดประเทศได้ ขณะนี้ไม่มีการระบาดระลอก 3 ขณะที่ฝรั่งเศสฉีดวัคซีนหลายตัว เนื่องจากได้ข่าวว่าวัคซีนแอสตราเซเนกามีผลข้างเคียง และทำให้การฉีดวัคซีนไม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้โอกาสเกิดลิ่มเลือดเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกามีน้อยมาก อัตราส่วน 1 ต่อแสนหรือล้าน แล้วแต่ประเทศ เชื้อชาติ ส่วนใหญ่เกิดในเพศหญิง อายุน้อยกว่า 55 ปี ซึ่งอาจทานยาที่เกี่ยวกับฮอร์โมน อังกฤษคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้ซึ่งการเสียชีวิตจาก COVID-19 ลดลง

ประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าอันตราย ในภาพรวมหากต้องการคุมโรคให้ได้และต้องการลดอัตราการเสียชีวิต อัตราการนอนโรงพยาบาลจนล้น ซึ่งจะกระทบต่อผู้ป่วยปกติและผู้ป่วยโรคอื่น อย่างไรก็ตามเราต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ขออย่าตระหนกแห่ตรวจวัคซีน

นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทุกคนอยู่ในภาวะตระหนกจึงไปตรวจหาเชื้อ ซึ่งทุกคนควรรู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับใด หากเสี่ยงสูงควรไปตรวจ โดยเฉพาะกรณีสัมผัสในที่ทำงาน โอกาสติดค่อนข้างน้อยหรือน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดจริง ๆ เช่น กินข้าวด้วยกัน สัมผัสกัน หากที่ทำงานมีผู้ติดเชื้อ 1 คน ไม่จำเป็นต้องไปตรวจทั้งหมด หากมีความเสี่ยงอยู่บ้างให้สังเกตอาการ ขณะที่การป่วยจาก COVID-19 มีโอกาสในการเกิดผื่น แต่อย่าเพิ่งสงสัยว่าติดเชื้อและไปตรวจ ขอให้เน้นอาการระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก เช่น ไอ เจ็บคอ และมีไข้ ทั้งนี้ช่วงสงกรานต์ขอให้ดูแลตนเองเป็นอย่างดี ควรงดการดื่มสุรา สังสรรค์ เพื่อป้องกันผู้สูงอายุติดเชื้อ

 

Next Post

ปิดสวนสัตว์เชียงใหม่ 11-24 เม.ย. นักศึกษาฝึกงานติดโควิด

อาทิตย์ เม.ย. 11 , 2021
สวนสัตว์เชียงใหม่ ประกาศงดให้บริการเที่ยวชม 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-24 เม.ย.นี้ หลังพบนักศึกษาฝึกงาน 1 คนติดเชื้อ COVID-19 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2564 สวนสัตว์เชียงใหม่ นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ลงนามในประกาศสวนสัตว์เชียงใหม่ เรื่อง งดให้บริการเที่ยวชมสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นการชั่วค […]