สธ.ปรับแนวทางรักษา ใช้ยา “ฟาวิพิราเวียร์” เร็วขึ้น

สธ.ปรับแนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้น โดยให้ขึ้นอยู่กับดุลยวินิจฉัยแพทย์กรณีมีปัจจัยเสี่ยง ย้ำไม่ใช้ยาหว่านแหเหตุมีผลข้างเคียงและเสี่ยงเชื้อดื้อยา พร้อมเร่งกระจายยาไปทั่วประเทศ รพ.สนามและ Hospitel

วันนี้ (6 พ.ค.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในการแถลงสถานการณ์ COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุขถึงแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรคปอด จากหลายสถาบันได้ร่วมระดมสมองถึงแนวทางการรักษาโดยเฉพาะกรณีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีการปรับแนวทางใหม่ กรณีผู้ติดเชื้อยืนยันหากมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการแต่มีโรคร่วมหรือมีปัจจัยเสี่ยง แพทย์สามารถรักษาตามอาการและให้ยาต้านไวรัส (ฟาวิพิราเวียร์) ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ ทั้งนี้การให้ยาฟาวิพิราเวียร์จะให้เร็วขึ้น ขณะที่กรณีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วมจะยังไม่ให้ยารักษาเฉพาะ

 

นอกจากนี้ กรณีของผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการเล็กน้อยและมีความเสี่ยงหรือปอดอักเสบเล็กน้อย แพทย์จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ และอาจให้ยาสเตียรอยด์ (Corticosteriod)ในรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งจะสามารถลดอาการที่จะรุนแรงในอนาคตและอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้

ขณะที่แนวทางอื่นจะเหมือนเดิมคือ ผู้ติดเชื้อยืนยันที่มีภาวะปอดอักเสบ และความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดที่อุณหภูมิห้องน้อยกว่าร้อยละ 96 หรือ ปอดอักเสบรุนแรง จะมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โลพินาเวียร์ (Lopiviravir) และ ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) และยาสเตียรอยด์ (Corticosteriod) ในรายที่มีอาการรุนแรง


แนวทางใหม่นี้เกณฑ์การให้ยาฟาวิพิราเวียร์จะให้เร็วขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับให้ทุกคน ซึ่งสาเหตุที่ไม่หว่านแหเนื่องจาก ส่วนหนึ่งคือ ยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการข้างเคียงบางรายมีอาการตับอักเสบ และการหว่านแหทั้งหมดอาจเกิดการเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นห่วงมาก ๆ ขณะที่ยาต้านไวรัสตัวอื่นที่จะใช้แทนยังอยู่ในระหว่างการทดสอบยังไม่ได้สรุปและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนจึงยังนำมาใช่ไม่ได้ จึงต้องเก็บยาฟาวิพิราเวียร์ไว้เป็นอาวุธสำคัญ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและมีโรคร่วม ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วมที่กว่าร้อยละ 80 ที่ไม่เป็นเป็นสีเหลืองและสีแดง ซึ่งยังไม่มีความจำเป็นต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ 

 

นอกจากนี้ แนวทางการรักษาที่ให้ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน นั้นโดยหลักการต้องการให้พักรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน แต่กรณีในพื้นที่มีปัญหาการบริหารเตียง ซึ่งหากผู้ป่วยไม่มีอาการอาจให้อยู่ในโรงพยาบาล 10 วัน และกักตัวต่อที่บ้านอีก 4 วัน จนครบ 14 วัน ซึ่งเป็นการบริหารสถานการณ์ และเปิดช่องให้แพทย์และหน่วยงานปรับตามสถานการณ์

กระจายยาทั่วประเทศ

ขณะที่การกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้กระจายยาไปทั่วประเทศแล้ว 2 ล้านเม็ด และอีก 3 ล้านเม็ดจะเข้ามาในช่วงวันที่ 10 กว่า ๆ และการใช้ยาปัจจุบันใช้วันละ 50,000 เม็ด ซึ่งยาจำนวน 5 ล้านเม็ดจะสามารถใช้ได้ประมาณ 3 เดือน ทั้งนี้ รมว.สธ.ระบุว่าขอให้องค์การเภสัชกรรมให้มียาในสต็อกอย่างน้อย 2 ล้านเม็ด ขณะนี้กระจายยาไปทั่วประเทศแล้ว รวมถึงโรงพยาบาลแม่ข่ายจ่ายยาให้โรงพยาบาลลูกข่ายทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาคแล้ว ในกรุงเทพฯกระจายยาไปยังโรงยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลเครือข่ายหมดแล้ว รวมถึงโรงพยาบาลสนามและ Hospitel 

 

ด้านกรมการแพทย์และสมาคมโรคติดเชื้อ ออกแถลงการณ์ ระบุยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาสนับสนุนการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ยกเว้นผู้ที่มีโรคร่วมหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น สูงอายุ โรคประจำตัว เนื่องจากติดเชื้อส่วนใหญ่ที่ไม่มีอาการมักจะหายจากโรคได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส 

 

 

 

 

 

Next Post

กางสถิติ! โควิด "เรือนจำ" ทั่วโลกเกิน 8 แสน ไทยพบติดเชื้อ 357 คน

ศุกร์ พ.ค. 7 , 2021
กางสถิติการติดเชื้อ COVID-19 ในเรือนจำทั่วโลกเกิน 800,000 คน สหรัฐอเมริกา อับดับหนึ่ง 612,000 คน รองลงมาอินเดีย ปากีสถาน ส่วนไทยพบการติดเชื้อระลอก เม.ย.-6 พ.ค.นี้ ใน 3 เรือนจำแล้ว 357 คน มากสุดที่เชียงใหม่ 224 คน และนราธิวาส 127 คน กรณีข่าวนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎรที่ติดเชื้อ COVID-19 ในระหว่าง […]