สธ.ชี้วัคซีน 2 ล้านโดสไม่ได้หาย กันไว้ “ฉีดเข็ม 2 – ฉุกเฉิน”

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันวัคซีน COVID-19 จำนวน 2 ล้านโดส ไม่ได้หายไปไหน แต่มีการกันครึ่งหนึ่งไว้ฉีด รวมถึงเข็มที่ 2 และสำรองกรณีฉุกเฉิน มั่นใจสามารถรองรับการฉีดวัคซีน ล็อตใหญ่ 6 ล้านโดส ที่จะมาในเดือน มิ.ย.นี้ และอีกเดือนละ 10 ล้านโดส

วันนี้ (22 เม.ย.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วัคซีน COVID-19 จำนวน 2,000,000 โดส ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ครบ ซึ่งมีการฉีดตามขั้นตอน โดยประเมินว่าวัคซีน 10,000,000 โดสไม่เหลือบ่ากว่าแรงในการฉีด

โดยวัคซีนล็อตใหญ่ 6,000,000 โดส จะมาในเดือน มิ.ย. และหลังจากนั้น เดือนละ 10,000,000 โดส โดยยืนยันมีความสามารถในการฉีดวัคซีนได้ทัน

แจกแจงรายละเอียดวัคซีน 2 ล้านโดส

สำหรับวัคซีน COVID-19 ล็อตแรก เข้ามาในช่วงปลายเดือน ก.พ.2564 จำนวน 200,000 โดส เริ่มฉีดในเดือน มี.ค. เข็มที่ 1 จำนวน 100,000 โดส และมีการกันไว้ 100,000 โดส ไว้ฉีดเข็มที่ 2

ต่อมา ปลายเดือน มี.ค. วัคซีนมาเพิ่มอีก 800,000 โดส เริ่มฉีดเดือน เม.ย. (10 วัน) เข็มที่ 1 จำนวน 400,000 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 100,000 โดส รวมงวดแรก 1,000,000 โดส รวมฉีดวัคซีนไป 600,000 โดส

กลางเดือน เม.ย. วัคซีนเข้ามา 1,000,000 โดส เริ่มฉีดกลางเดือน เม.ย. (3 วัน) เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 จำนวน 250,000 โดส รวมงวด 2 จำนวน 1,000,000 โดส รวมฉีดวัคซีนไป 250,000 โดส

เมื่อรวม 2 งวด รวมเป็นวัคซีนที่ได้รับมาแล้ว 2,000,000 โดส และฉีดไปแล้ว 800,000 โดส ส่วนที่เหลือไม่ได้หายไปไหน มีการเก็บไว้สำหรับการฉีด รวมถึงเข็มที่ 2 และสำรองกรณีฉุกเฉิน

“ภาครัฐ – เอกชน” ผนึกกำลังจัดหาวัคซีน

ส่วนกรณีการจัดหาวัคซีน 65,000,000 โดส ซึ่งจะจัดหาเพิ่ม 35,000,000 โดส แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1. รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การเภสัชกรรม จัดหาเพิ่ม

2. เอกชน โดยหอการค้าไทย เสนอออกเงินจัดหาวัคซีน 10,000,000 โดส เพื่อมาฉีดให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะตามโรงงานอุตสาหกรรม และ 3. โรงพยาบาลเอกชน จัดซื้อเอง เพื่อนำมาบริการกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง

ทั้งนี้ มีระบบดูแลความปลอดภัย มีความเชื่อมโยงกัน ออกใบรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศ หรือพาสปอร์ต วัคซีน ตลอดจนมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังจากการฉีดวัคซีนอีกด้วย

21 เม.ย.ฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 152,230 โดส

ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ประจำวันที่ 21 เม.ย.2564 มีการฉีดไปแล้ว 152,230 โดส แบ่งออกเป็นเข็มแรก 141,670 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 10,560 โดส เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ครบทั้ง 100%

ส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังจากการฉีดวัคซีน ได้แก่ ไม่รุนแรง และรุนแรง หากพบว่าอาการรุนแรง จะนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน, น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน และเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน

ซึ่งกรณีที่มีพระภิกษุมรณภาพ ภายหลังจากการฉีดวัคซีน ถือว่าเป็นอุบัติการณ์ที่เกิดร่วมกัน

กรณี จ.ระยอง เกิดจากวัคซีน หายดีแล้ว

เมื่อพิจารณาแล้ว หากพบว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน และเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน จะมีการวินิจฉัยว่าให้ฉีดวัคซีนต่อไป เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ, หยุดการฉีดวัคซีนถาวร หรือหยุดการฉีดวัคซีนชั่วคราว เพื่อตรวจสอบสาเหตุเกิดจากอะไร

ส่วนกรณีที่ จ.ระยอง ที่ระบุว่าพบเลือดในสมอง ยอมรับว่าเกิดจากตัววัคซีน แต่ทุกคนกลับมามีอาการปกติทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะมีมาตรการเพิ่ม ให้ความรู้ และความเข้าใจให้มากขึ้น

ส่วนอาการ Immunization Stress Related Response ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเกี่ยวกับกับความเครียด หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว ซึ่งศัพท์นี้เป็นคำใหม่จากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แต่ยังไม่มีคำที่ใช้ในภาษาไทย อาการนี้เกิดกับคนหมู่มาก สามารถเกิดขึ้นได้

ลักษณะที่พบส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง อายุไม่มาก เป็นกับวัคซีนหลายล็อต, เกิดเร็วหลังจากฉีดวัคซีน, มีอาการระบบประสาท, อาจหายเอง กลับมาเป็นปกติได้ ภาพถ่ายภาพเอ็กซเรย์ MRI มักไม่พบความผิดปกติทางกายภาพ

ประเมินสุขภาพจิตประกอบการฉีดวัคซีน

ส่วนข้อเสนอแนะ ให้ฉีดวัคซีนต่อไปได้, ให้เคร่งครัดมาตรฐานการฉีด, ให้คำแนะนำ สังเกตอาการดังกล่าวและดูแลรักษาตามมาตรฐาน และให้นำการประเมินสุขภาพจิตมาประกอบในการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และเป็นประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมหาศาล

 

Next Post

ข่าวดี! "ปูติน" หนุนวัคซีนสปุตนิก-วี กับไทยแบบรัฐต่อรัฐ

ศุกร์ เม.ย. 23 , 2021
นายกรัฐมนตรี เผยข่าวดี ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ยินดีให้การสนับสนุนวัคซีน COVID-19 “สปุตนิก วี” กับรัฐบาลไทยแบบรัฐต่อรัฐแล้ว เร่งตัวแทนบริษัทในไทยเข้าหารือแล้ว ขณะที่กรมควบคุมโรคกางปฏิทินฉีควัคซีนอีกครึ่งหลังเหลือให้กับคนไทย วันนี้ (22 เม.ย.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป […]