ศบค.ยืนยันพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 คน จากผู้ติดเชื้อ 12 คน จ.นราธิวาส

ศบค.ยืนยันพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351.2 จำนวน 3 คน จากผู้ติดเชื้อ 12 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2564 ใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

วันนี้ (23 พ.ค.2564) เวลาประมาณ 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.รายงาน สถานการณ์ COVID-19 โดยระบุถึงกรณีผู้ติดเชิ้อ COVID-19 ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยระบุว่า กรณี กรณี อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พบสายพันธุ์แอฟริกาใต้  B.1.351.2 จำนวน 3 คน จากการพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 12 คน ในวันที่ 22 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเคสแรกพบในชาย อายุ 32 ปี โดยตรวจพบในวันที่ 4 พ.ค.จากนั้นมีการติดตามและพบวงที่เกิดขึ้น 3-5 วง กระจายรวมทั้ง 83 คน และจากการสุ่มตรวจ 10 คน พบสายพันธุ์  B.1.351.2 จำนวน 3 คน 

 

 

ต่อมาในเวลา 12.49 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมในการแถลงสถานการณ์ COVID-19 ประจำวันโดย เปิดเผยว่า กรณีการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ B.1.351.2 หรือที่เรียกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับแจ้งการพบเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 คน จากห้องปฏิบัติการของเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้มีการส่งตัวอย่างเชื้อไปสุ่มตรวจหาเพื่อที่จะได้ทราบว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยมีสายพันธุ์ใดบ้างและอย่างไรซึ่งมีการทำงานของเครือข่ายร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

 

สำหรับการระบาดและการพบสายพันธุ์นี้ พบที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งในปัจจุบันมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ ซึ่งมีการระบาดในกลุ่มผู้ติดเชื้อขณะนี้รวม 83 คน โดยเฉพาะที่ อ.ตากใบ ซึ่งมีการระบาดในผู้ชาย อายุ 32 ปี ที่เป็นเคสเริ่มต้น ไม่มีโรคประจำตัว ขณะที่ป่วยอยู่ที่หมู่ 9 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. – 4 พ.ค.2564 จากการที่มีภรรยาเป็นชาวมาเลเซียมาเยี่ยมและอยู่ด้วยกัน ในกรณีนี้ผู้ชายมีอาการไข้ ปวดเมื่อย ปวดท้อง และไปพบแพทย์อยู่หลายแห่ง จนกระทั่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อ COVID-19 และส่งไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และขณะนี้หายดีแล้ว ส่วนภรรยาและบุตรได้เดินทางกลับไปยังประเทศมาเลเซียแล้ว

เมื่อพบกรณีดักงล่าว ได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือ มีการปิดพื้นที่เพื่อไม่ให้มีการเข้า – ออก มีการค้นหาเชิงรุกสอบสวนโรคทำให้ทราบว่ามีการระบาดในกลุ่มก้อนทั้งหมด และผู้สัมผัสติดเชื้อทุกคนได้รับการกักตัว อยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ ที่เรียกว่า Local Quarantine โดยที่ทางฝ่ายปกครองได้มีการสนับสนุนมาตรการดำเนินการ

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยสรุปคือในมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วประกอบด้วย มาตรการการเฝ้าระวังมีการค้นหาผู้ติดตามผู้สัมผัสในครอบครัว ค้นหาเชิงรุกในชุมชนเพื่อสุ่มส่งตรวจสายพันธุ์ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด 698 คน เป็นการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ 160 คน พบผู้ติดเชื้อ 83 คน ในจำนวนนี้ไม่พบผู้เสียชีวิตและหายป่วยไปแล้ว 16 คน กำลังรักษาอยู่ 67 คน มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์พบ 3 คน หายป่วยแล้ว มาตรการในการรักษามีการเตรียมพร้อมในเรื่องของการรักษามีผู้ป่วยอาการน้อยรับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชน 35 คนและโรงพยาบาลสนาม 41 คน และมีผู้ป่วยอาการปานกลาง 7 คน รักษาที่โรงพยาบาลนราธิวาสฯ

 

สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดของโรค มีการควบคุมและจำกัดการเดินทางเข้า-ออก ในพื้นที่ มีการจัดสถานที่กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในพื้นที่มีการตรวจตราลักลอบเข้าเมืองและคัดกรองเชื้อ COVID-19 มีการกำกับติดตามคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

การปิดพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน มีการตั้งด่านตรวจเพื่อกำกับควบคุมการเข้าออก โดยเฉพาะที่ หมู่ 4, 7, 8, 9 และมีการเปิดสถานกักกันโรคในระดับท้องถิ่น ในกรณีที่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ในกรณีนี้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือที่เรียกว่า EOC ตากใบ กับ จ.นราธิวาส มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แนวโน้มไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม

 

สำหรับกรณีนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้ทราบว่าโอกาสที่จะมีการติดเชื้อโดยเฉพาะการข้ามพื้นที่ชายแดน ดังที่เราทราบว่า ประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศเพื่อนบ้าน และขณะนี้มีสถานการณ์การติดเชิ้อที่ค่อนข้างรุนแรงมีการพบเชื้อในหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งคงจะต้องมีการระมัดระวังในการเดินทางข้ามไปข้ามมาและขอความร่วมมือประชาชน กรณีที่พบผู้ที่เดินทางเข้ามาโดยผิดกฎหมายขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีลักษณะใกล้เคียงกับที่พบในประเทศมาเลเซีย รวมกับประวัติที่สอดคล้องกันว่าผู้ที่เป็นผู้ป่วยคนแรก มีประวัติสัมผัสกับญาติที่ลักลอบเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย น่าจะเชื่อได้ว่ามีการติดมาจากประเทศมาเลเซีย สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้เป็นสายพันธุ์ที่เราให้ความสนใจ เนื่องจากข้อมูลในขณะนี้บ่งชี้ว่าการตอบสนองของวัคซีนในสายพันธุ์นี้อาจจะไม่ดีเท่ากับสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนทุกชนิดมีความสามารถในการลดการเกิดอาการรุนแรง และลดอัตราการตายของโรคได้ เพราะฉะนั้นก็ยังมีประโยชน์ในการให้วัคซีนในกรณีนี้อยู่  

ส่วนความสามารถในการกระจายโรคใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์อินเดีย ส่วนความรุนแรงของโรคไม่ได้มากกว่าปกติ อย่างตัวอย่างที่เห็นว่าผู้ที่ติดเชื้อในกลุ่มก้อนนี้ 83 คน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เพราะฉะนั้น มาตรการในการป้องกัน ก็ยังคงใช้มาตรการทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาผู้ป่วย การพบผู้สัมผัส มีการกักตัว มีการตรวจหาเชื้อ มีการแยกผู้ป่วย

และมาตรการส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายพันธุ์ไหน ยังเป็นมาตรการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง เป็นต้น รวมถึงวัคซีน ก็ยังเป็นประโยชน์และยังต้องใช้อย่างต่อเนื่อง ควบคุมกับมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินไป ขอให้ประชาชนช่วยกันพึงระวังผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและให้คงมาตรการในการป้องกันส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง

 

 

Next Post

ขอพนักงานไป-กลับ รง.เพชรบุรี ใน 3 จังหวัด ตรวจคัดกรองโควิด

อาทิตย์ พ.ค. 23 , 2021
ศบค.ขอพนักงานในโรงงาน จ.เพชรบุรี ใน 3 จังหวัดที่เดินทางไป-กลับ เข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อ COVID-19 คาดควบคุมได้ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่ กรุงเทพฯพบคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้น 1 คลัสเตอร์ ในแคมป์คนงานก่อสร้างเขตบางกะปิ วันนี้ (23 พ.ค.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.รายงาน สถานการณ์ COVID-19 โดยระบุว่า ศูนย […]