ร้านอาหารพื้นที่สีแดงเข้มปรับตัว หลังห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน

ศบค.ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยขอความร่วมมืองดเดินทางข้ามจังหวัด และห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านให้ซื้อกลับบ้านได้ถึง 21.00 น. มีผลบังคับใช้พรุ่งนี้ (1 พ.ค.) ทำให้ร้านอาหารต้องปรับตัวแม้จะทำให้รายได้ลดลง

บรรยากาศร้านอาหารในพื้นที่เมืองพัทยา 1 ใน 6 จังหวัดที่ ศบค.ประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม เงียบเหงาอย่างเห็นได้ชัด หลังจากมีประกาศจาก ศบค.ออกมาโดยขอความร่วมมืองดเดินทางข้ามจังหวัด และห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านได้ถึง 21.00 น. มีผลบังคับใช้พรุ่งนี้ (1 พ.ค.) 

นายปิยะณัฐ แสงนาค เจ้าของร้านอาหารชื่อ “ครัวเถื่อนพัทยา” กล่าวว่า เกิดผลกระทบอย่างแน่นอน หลังรัฐบาลประกาศห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ซึ่งหลังจากนี้ทางร้านก็มีการปรับตัว เน้นการส่งเดลิเวอรี่ซึ่งเมื่อก่อนรายได้ดีมากแต่ในปัจจุบันลูกค้าก็เงียบกว่าเดิมเพราะอาจจะกลัวการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบนี้มากขึ้น

เช่นเดียวกับ น.ส.กาญจนา ศรีวิลัย ผู้จัดการร้านอาหารนาเนียสเต็ก & ซีฟู้ด พัทยา กล่าวว่า ทางร้านก็จะปฎิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลแม้รายได้ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายยังคงเท่าเดิม ซึ่งทางร้านก็จะปรับตัวเปิดให้เร็วขึ้น และเน้นการส่งเดลิเวอรีให้มากขึ้น ส่วนพื้นที่ใกล้กับร้านก็จะบริการส่งฟรี แต่ถ้าระยะทางทางไกลก็จะคิดตามระยะทาง

ด้านชาวชุมชนละแวกบางบัว เขตหลักสี่ กทม. หลายคนสะท้อนถึงมาตรการของ ศบค.มีมติ ซึ่งประกาศให้ 6 จังหวัดเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ในจำนวนนี้ มีกรุงเทพมหานครร่วมด้วย ซึ่งหลายคนที่ออกมาจับจ่ายยามเย็นเห็นว่า เป็นมาตรการที่จำเป็นแม้ออกมาล่าช้าเกินไปแต่ยังดีกว่าไม่มีมาตรการใด โดยหลายคนสะท้อนว่า จริง ๆ แล้วควรกำหนดมาตรการตั้งแต่ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เป็นช่วงการเดินทางของผู้คน ขณะที่ร้านอาหารบางแห่ง เริ่มเขียนข้อความแจ้งประกาศให้ลูกค้าทราบแล้วว่าจะงดให้บริการนั่งที่ร้านตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 จนถึงวันที่ 14 พ.ค.64 นี้

การปรับตัวของร้านอาหารในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังที่ ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมโดยให้ยกระดับมาตรการปรับพื้นที่ควบคุม COVID-19 เป็น 3 ระดับ มีผลบังคับใช้รวม 14 วัน เริ่มวันเสาร์ที่ 1 พ.ค.นี้ ซึ่งพื้นที่สีแดงเข้ม คือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงรวม 45 จังหวัด และสุดท้ายคือพื้นที่ควบคุม 26 จังหวัด

ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 1,871 คน มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 63,570 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 10 คน โดย ศบค.ยังเป็นห่วงจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ซึ่งหากแก้ปัญหาการติดเชื้อ COVID-19 ใน กทม.ได้ อาจทำให้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น

 

 

Next Post

"ชลบุรี" พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 151 คน

ศุกร์ เม.ย. 30 , 2021
จ.ชลบุรี รายงานพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ จำนวน 151 คน ยอดผู้ป่วยสะสมระลอก เม.ย.64 จำนวน 2,ุ416 คน เสียชีวิตสะสม 4 คน วันนี้ ( 30 เม.ย.2564) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.ชลบุรี) มีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ จำนวน 151 คน ยอดผู้ป่วยสะสมระลอก เม.ย.64 จำนวน 2,ุ416 คน อยู่ระหว่างก […]