รู้จักลิง 6 สายพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองในไทย “ห้ามครอบครอง”

รู้จักลิง 6 ชนิดในไทย สัตว์ป่าคุ้มครองที่ห้ามครอบครอง แต่ยังคงพบเห็นการครอบครอง และนำมาแอบเลี้ยงกัน โดยเฉพาะลิงแสม ลิงลมหรือนางอาย และลิงกัง ที่พบเห็นได้บ่อยกว่าลิงในป่าธรรมชาติ

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่าภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มีการประกาศรายชื่อสัตว์ป่าสงวน 16 ชนิด และสัตว์ป่าคุ้มครอง 7 ประเภท จำนวนนี้ครอบคลุมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด 3สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด ปลา 14 ชนิด แมลง 13 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ 12 ชนิด ซึ่งรวมทั้งลิง 6 ชนิดที่ได้รับการคุ้มครองในไทย

  • ลิงกัง (Macaca nemestrina)
  • ลิงลม หรือ นางอาย (Nycticebus coucang)
  • ลิงวอก (Macaca mulatta)
  • ลิงเสน (Macaca arctoides)
  • ลิงแสม (Macaca fascicularis)
  • ลิงอ้ายเงี้ยะ หรือ ลิงอัสสัม หรือลิงภูเขา (Macaca assamensis)

เนื่องจากลิงเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนั้นผู้ที่จะครอบครองจะต้องมีใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่า ซึ่งออกโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหากเลี้ยงลิงโดยไม่มีใบอนุญาตความผิดมาตรา 19การครอบครองสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน และ ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทำความรู้จักลิงในประเทศไทย

เมื่อเร็วๆนี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยการค้นพบ “ลิงอ้ายเงี้ยะ” ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นการเข้าไปจับลิงในธรรมชาติ เพื่อนำมาทำหมันลดประชากร แต่จากจากการวางกรงดักจับลิง พบว่ามีลิงชนิดอื่นคือ ลิงไอ้เงี้ยะ ติดอยู่ในกรงด้วย 2 ตัวทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทราบกันทั่วไปว่า ในถิ่นนี้มีเพียงลิงแสม อาศัยอยู่ประมาณ 1,000 ตัว ไม่มีลิงอื่นอยู่ปนในพื้นที่

สำหรับลิงไอ้เงียะลิงอัสสัม หรือ ลิงวอกภูเขา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อยู่ในอันดับวานร (ไพรเมต)
ทั้งนี้โดยปกติจะพบลิงไอ้เงี้ยะ ได้เฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ จนถึงด้านตะวันตกของประเทศไทย โดยพบมากสุดที่ จ.ลำปาง การพบลิงไอ้เงี้ยะ ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน นับเป็นครั้งแรกที่สำรวจพบ ทั้งที่จ.อุทัยธานี อยู่ห่างจาก จ.ลำปางมากถึงกว่า 400 กิโลเมตร พบว่ามีลิงไอ้เงียะอาศัยอยู่ในถิ่นนี้ ประมาณ 10-15 ตัว ลิงไอ้เงี้ยะ มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง รวมทั้งเป็นสัตว์คุ้มครองตามบัญชีหมายเลข 2 ของไซเตสด้วย

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ครอบครัวลิงเสน ลิงหางสั้น

ขณะที่ “ลิงเสน” หรือ ลิงหมี เป็นลิงชนิดหนึ่ง ที่สามารถพบได้ในประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macaca arctoides จัดอยู่ในวงศ์ลิงโลกเก่า (Cercopithecidae) ลำตัวยาว หลังสั้น ขนยาวสีน้ำตาล หน้ากลม หางสั้น ลูกลิงมีขนสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีเข้มเมื่อมีอายุมากขึ้น ใบหน้าเป็นสีชมพู หรือ สีแดงเข้ม ถึงน้ำตาล และมีขนเล็กน้อย 

 

ลิงเพศผู้มีลำตัวใหญ่กว่าลิงเพศเมีย มีน้ำหนัก 9.7-10.2 กิโลกรัม ลิงเพศเมีย มีน้ำหนัก 7.5-9.1 กิโลกรัม ลิงเสนเพศผู้มีเขี้ยวยาว อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม มีถุงเก็บอาหารใต้คาง หางสั้นมากจนดูเหมือนกับไม่มีหาง ก้นแดง หน้าท้องมีขนน้อย ขนบนหัวจะขึ้นวนเป็นก้นหอย ขนที่แก้มชี้ไปทางหลัง และคลุมหูไว้ สามารถพบได้ในป่าทุกชนิดของเขตร้อน และกระจายกันอยู่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ทางตะวันตกของมาเลเซีย แหลมมลายู พม่าไทย เวียดนาม และ ทางตะวันออกของบังคลาเทศ ลิงเสนกินผลไม้ พืชผัก รวมถึงแมลงขนาดเล็ก เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 3-4 ปี ระยะตั้งท้องนาน 146 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และมีอายุยืนกว่า 20 ปี 

ลิงกังใต้ ลิงฝึกเก็บมะพร้าว

มีรูปร่างอ้วนสั้น ขนสั้นสีเทาหรือสีน้ำตาล หน้าค่อนข้างยาว ขนบนหัวสั้นมีสีเทาหรือสีน้ำตาล และขึ้นวนเป็นก้นหอย ขนตรงส่วนใต้ท้องมีสีจางจนเกือบขาว ขนบริเวณหลังเป็นสีน้ำตาลไหม้หรือดำ หางค่อนข้างสั้น ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า และมีขนปรกหน้าผากน้อยกว่าลิงตัวผู้ อาศัยอยู่ตามป่าดิบบริเวณเชิงเขา ชอบเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย ไม่ค่อยอยู่เป็นที่ บางตัวออกหากินตัวเดียว ไม่รวมฝูง ชอบลงมาอยู่ตามพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ แต่เวลานอนขึ้นไปนอนบนต้นไม้ ชอบส่งเสียงร้องและมักร้องรับกันทั้งฝูง มีอายุยืน 25 ปี เป็นลิงที่มีสมาชิกในฝูงน้อยกว่าลิงชนิดอื่นๆมีไม่เกิน 40-45 ตัว

ในประเทศไทย ลิงกังใต้ เป็นลิงที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะมักจะถูกจับมาเลี้ยงและฝึกให้แสดงต่างๆตามคำสั่ง เช่น ละครลิง หรือปีนต้นมะพร้าวเก็บลูกมะพร้าว ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่จะใช้ลิงตัวผู้เนื่องจากมีตัวใหญ่ เรี่ยวแรงมากกว่าลิงตัวเมีย ลิงที่จะใช้ฝึกเป็นอย่างดีอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 3-5 เดือน และต้องเป็นลิงนิสัยดี เชื่อฟังต่อผู้เลี้ยง  

ลิงแสม พบมากที่สุดในไทย

ลิงแสม จัดเป็นลิงขนาดกลาง มีขนตามลำตัวสีน้ำตาล หางยาวกว่าความยาวของลำตัว ขนตรงกลางหัวมีลักษณะตั้งแหลมชี้ขึ้น ขนใต้ท้องสีขาว โดยสีขนจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ ฤดูกาล และถิ่นที่อยู่อาศัย ขนาดความยาวลำตัวและหัวประมาณ 48.5 –55 เซนติเมตร ความยาวหาง 44 –54 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 3.5 –6.5 กิโลกรัม

เป็นลิงอีกชนิดหนึ่งที่พบได้แทบทุกภูมิประเทศ ทั้งในป่าชายเลนใกล้ทะเล โดยลิงฝูงที่อาศัยในที่นี่จะว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง ลิงแสมพยายามจะปรับตัวให้สามารถอยู่ในพื้นที่บริเวณขอบนอกของป่า มากกว่าอยู่ในป่าลึก และสามารถปรับตัวในเข้ากับมนุษย์ได้ เช่น ศาลพระกาฬ จ.ลพบุรี หรือศาลเจ้าแม่เขาสามมุข จ.ชลบุรี มักจะอยู่เป็นฝูงใหญ่ อาจมีสมาชิกในฝูงได้ถึง 200 ตัว โตเต็มที่เมื่อมีอายุได้ราว 3-4 ปี ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกที่มีอายุน้อยจะเกาะติดแม่เสมอ และจัดเป็นลิงอีกชนิดหนึ่งที่หากเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก ก็สามารถนำมาฝึกหัดให้เชื่องได้เหมือนลิงกัง  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัตวแพทย์ ชี้ไม่ให้เยี่ยม “ก๊อตซิลล่า” ต้องรอผลตรวจเชื้อ

 

Next Post

ผลสอบเบื้องต้น ตร.ขับรถส่ายมีอาการป่วย เร่งสอบพยานเพิ่ม

จันทร์ เม.ย. 5 , 2021
กรณีตำรวจ สภ.บัวใหญ่ ขับรถส่ายไปมา ผลสอบเบื้องต้นพบมีอาการป่วย หลังเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขณะที่ผู้การฯ นครราชสีมา ชี้ต้องสอบพยานเพิ่ม หากพบเมาจริงเอาผิดวินัยเด็ดขาด วันนี้ (5 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีตำรวจ สภ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ขับรถควบคุมผู้ต้องหาส่ายไปมา ลักษณะคล้ายคนเมา […]