พร้อม “สูงวัย” หรือยัง?

โอกาสผู้ประกอบการไทย “ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” โตรองรับประชากรสูงวัย ขยับเพิ่มแตะ 28% ในอีก 10 ปี ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจไทยพร้อมทุกด้าน ดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้ารับบริการ

คำถามมากมายผุดขึ้นมา…

อายุมากขึ้นเงินจะพอใช้มั้ย ? ถ้าเดินไม่ไหวใครจะดูแล ? เจ็บป่วยขึ้นมาไปรักษาที่ไหน ?

หลายคนมีคำถามเหล่านี้อยู่ในใจ ขณะที่หลายคนอาจมองว่า ยังเป็นเรื่องไกลตัว

ปี 2563 มีคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 18% โดยหากมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)

คาดตั้งแต่ปี 2566 จะมีคนไทยอายุ 60 ปี ปีละ 1 ล้านคน และในปี 2576 จะมีประชากรสูงอายุ ถึง 28% ของประชากรทั้งประเทศ สวนทางกับอัตราการเกิดที่มีจำนวนลดลง

สิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้สูงวัยบางส่วน มีเงินเก็บจากการทำงานมาตลอดระยะเวลานาน ซึ่งมีความต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และมีคนดูแลเมื่อถึงวัยเกษียณ จึงเป็นโอกาสของคนทำธุรกิจที่จะเข้ามาเติมเต็ม ตอบโจทย์รับการเติบโตสังคมสูงวัย โดยเฉพาะธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ

แผนชีวิตก่อนสูงวัย จนถึงวาระสุดท้าย

นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ นายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันว่า มีการพูดถึงกันมากขึ้นว่า จะเตรียมความพร้อมรับอายุที่เพิ่มขึ้น วางแผนวาระสุดท้ายของตัวเองอย่างไร ถ้าต้องเดินก้าวเข้าไปอยู่ในช่วงชีวิตสูงวัย

ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ชี้ให้เห็นว่า อายุไขเฉลี่ยของคนไทย จะขยายไปที่ 90-100 ปี หากไม่ได้วางแผนเกษียณอายุ การเงิน การออม ในอนาคตอาจต้องพบปัญหากระทบในหลายด้าน

การเริ่มต้นการออมตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงการทำประกันชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นตั้งแต่วันนี้จึงต้องเริ่มเตรียมตัวเองให้พร้อม ให้แน่ใจว่าเมื่อถึงวัยสูงอายุแล้วเราจะยังอยู่ได้อย่างมีความสุข จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ธุรกิจดูแล “ผู้สูงอายุ” ตอบโจทย์สังคมเมือง

ผู้สูงอายุที่เพิ่ม ประกอบกับภาวะสังคมเมืองที่เร่งรีบ ลูกหลานออกไปทำงาน ไม่สามารถดูแลพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้เต็มที่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพและต้องการได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงข้อกำกัดในเรื่องของสถานที่ในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งต้องมีความเหมาะสมและปลอดภัย ดึงดูดผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ สนใจธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น

 

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวว่า การตัดสินใจเข้าพักในสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ 80% มาจากลูกหลาน ซึ่งดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มของผู้สูงวัยที่เข้าสู่วัยเกษียณ อายุประมาณ 55 ขึ้นไป พยายามมองหาสถานประกอบการหรือโครงการที่เหมาะสมกับตนเองในอนาคต ต้องการบ้าน เพื่อนในวัยใกล้เคียงกัน มีกิจกรรมคล้าย ๆ กัน

รวมถึงกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่มีอาการเจ็บป่วยและมองหาบริการทางด้านการแพทย์ เช่น กายภาพบำบัด การดูแลหลังผ่าตัด ต้องการอยู่ในเนอร์สซิ่งโฮม หรือ สถานที่ดูแล พักฟื้น ของผู้สูงอายุ ซึ่งไม่เกิน 1-2 เดือน พอร่างกายแข็งแรงจะกลับไปดูแลต่อที่บ้าน

ผู้สูงอายุเจ็บป่วยครองเตียงนาน

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลรัฐบาล ขยายจำนวนเตียงน้อยมาก สวนทางกับจำนวนที่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความหนาแน่นของการพักอาศัยในโรงพยาบาล ขณะที่การดูแลผู้สูงอายุมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูช้า เปราะบาง และอื่น ๆ

ผู้สูงอายุ 1 คน มีการครองเตียงในสถานพยาบาลเป็นสัปดาห์ บางคนหลายเดือน ขณะเดียวกันบุคคลากรทางการแพทย์ ต้องรับภาระหนักในการดูแลผู้ป่วย

หากไม่สามารถพร่องถ่ายคนไข้สูงอายุที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นระดับหนึ่งแล้ว ให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน หรือพักในสถานดูแลในระยะยาว เพื่อสงวนเตียงไว้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักกว่าได้ อาจทำให้เกิดปัญหาความหนาแน่นในโรงพยาบาล

ภาคเอกชนและภาครัฐ จึงพยายามผลักดันให้เกิดสถานประกอบการ เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากจะสามารถตอบโจทย์คนทั่วไปได้แล้ว ยังสามารถช่วยเหลือภาครัฐได้อีกทางหนึ่ง ทำให้การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อีกด้วย

 

คาดการณ์ว่าหากจำนวนผู้สูงอายุในอนาคตเพิ่มขึ้นเป็น 30 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด จะทำให้ไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 17 ล้านคน หากผู้สูงอายุ 1 % ต้องการเตียงจะต้องมีเตียงรองรับประมาณ 170,000 เตียง

ในขณะที่ความพร้อมด้านการสาธารณสุขพบว่า ขณะนี้โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศสามารถรองรับได้เพียง 30,000-50,000 เตียง ซึ่งไทยยังต้องการเตียงอีกประมาณ 5 เท่า เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

ดูแลสุขภาพก่อนสูงวัย

ก่อนสูงวัยจึงต้องเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ นพ.เก่งพงศ์ กล่าวว่ากลยุทธ์ด้านกระทรวงสาธารณสุข ที่จะนำเสนอความรู้ให้คน ให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรงนานที่สุด ออกกำลังกาย ป้องกันการเกิดโรค การบาดเจ็บ และไม่สบายของผู้สูงวัย ลดจำนวนผู้เข้ามารับการพักฟื้นในเนอร์สซิ่งโฮม

 

อย่างไรก็ตาม การผลักดันจำนวนสถานประกอบการ ก็ต้องทำควบคู่ไปกับมาตรฐาน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ ทำให้ผู้สูงวัยเปลี่ยนจากสภาพที่ติดเตียงให้ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ สามารถกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขโดยรวมของประเทศลงได้

สัดส่วนผู้สูงอายุกับสถานประกอบการ

ข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ให้เห็นในปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) มีนิติบุคคลประกอบกิจการเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ อยู่ 385 ราย มีมูลค่าทุนกว่า 2,000 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2562 มีธุรกิจประเภทนี้เพิ่มขึ้นกว่า 50 %

 

นพ.เก่งพงศ์ มองว่า ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบเต็มรูปแบบ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แม้ธุรกิจผู้สูงอายุในไทยกำลังโต แต่ยังไม่ทันความต้องการ จึงเป็นทั้งปัญหาและโอกาส

ในช่วง 1-2 ปี ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการรายใหม่สนใจและต้องการการสนับสนุนของภาครัฐ

สิ่งสำคัญขณะนี้อาจต้องแข่งขันกันในเรื่องของความแตกต่าง แต่อยู่บนพื้นฐานของหลักการด้านการแพทย์ ประกอบกับความหลากหลายของการให้บริการ กิจกรรมต่าง ๆ ทำให้การแข่งขันดูน่าสนใจมาก

ขณะที่ภาพรวมในการขับเคลื่อนสถานประกอบการประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน ซึ่งมีทั้งความพร้อมและความคิดสร้างสรรค์ การนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน หาโอกาสใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ ผลิตสินค้า รวมถึงการหาช่องทางใหม่ใหม่ของการนำเสนอสินค้าและบริการสู่ภาคประชาชน

สิ่งที่พูดวันนี้น่าจะเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน เพราะวันนี้คลื่นผู้สูงอายุมันกระทบฝั่ง มันเริ่มทำให้เกิดปัญหาหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และสาธารสุข

ดูแลสุขภาพครบวงจร รับสังคมสูงวัย

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวต่อว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีการแบ่งประเภทของการให้บริการอยู่ คือ แบ่งตามระยะเวลาที่ผู้สูงอายุเข้ารับบริการ ทั้งการบริการแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือ เดย์แคร์ สำหรับผู้สูงอายุที่สามารถดูแลตนเองได้ และมีญาติรับส่ง และการบริการแบบสถานบริการแบบดูแลระยะยาว ที่ผู้สูงอายุจะอาศัยในสถานบริการนั้นได้เลย โดยญาติที่ไม่มีเวลาดูแลจากพาผู้สูงอายุมาฝากดูแล มาเยี่ยมเป็นครั้งคราว

นอกจากนี้ ยังแบ่งตามความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุ ทั้งคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพา ทุพพลภาพ ต้องการการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด 

ขณะที่ สถานพยาบาลที่สร้างขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุก็แบ่งได้เป็นหลายประเภทเช่นกัน ซึ่งจะแตกต่างกัน ตามสภาวะสุขภาพ ความแข็งแรงและความเจ็บป่วย ของผู้สูงวัยที่มารับบริการ ทั้งรูปแบบการดูแล รวมถึงค่าใช้จ่าย โดยอัตราค่าบริการมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึง หลักแสนบาทต่อเดือน

 

หัวใจสำคัญของสถานดูแลผู้สูงอายุ คือ ความปลอดภัย, อาคารสถานที่ ต้องออกแบบเหมาะสมและสอดคล้องการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น ทางลาดทางชันเหมาะสม ระยะความกว้าง ระยะห่างของเตียง และด้านบริการ

ผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะยาว การเข้าใจ เอาใจใส่ มีผู้ที่ชำนาญการทำให้เกิดความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่เข้ามารับบริการได้

 

อย่างไรก็ตามการเข้ามาในธุรกิจนี้ อาจไม่ง่ายเนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน จึงมีความเข้มข้นเรื่องการให้บริการ มีพระราชบัญญัติสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุดูแลอยู่ ผู้ที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ ขณะเดียวกันเมื่อมีผู้ประกอบการมากขึ้นทำให้เกิดการแข่งขัน ทั้งในเรื่องคุณภาพการให้บริการ ราคา โดยเฉพาะคนดูแลผู้สูงอายุ

 

ปัจจุบันสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย มีสมาชิกประมาณ 300 ราย ในอนาคตหากกระทรวงสาธารณสุข มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการทั่วประเทศ คาดว่าจะผู้ประกอบการ ประมาณ 1,500-2,000 ราย สามารถรองรับผู้ป่วย 30,000-50,000 คน ตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างสูง และเห็นถึงแนวโน้มและแนวคิดในการทำงานร่วมกับกระทรวง ในแง่ของการดูแลพัฒนาระบบ รวมถึงการที่จะพัฒนาบริการต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับไปกับนโยบายของภาครัฐ และการแข่งขันในอนาคต

กฎหมายควบคุมกิจการดูแลผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกัน ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เช่น เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือโรงพยาบาลผู้สูงอายุ เป็นต้น ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3,000 แห่ง

และเพื่อเป็นการควบคุมมาตรของสถานประกอบการ กระทรวงฯ จึงได้ออกกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มาตรา 3 (3) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ทุกราย ต้องขออนุญาตก่อนเปิดกิจการ

ส่วนผู้ดำเนินการต้องผ่านการอบรม ผ่านการสอบ และมีใบอนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ขณะที่ผู้ให้บริการที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุต้องผ่านการอบรมจบจากหลักสูตรที่กรม สบส. รับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการก่อนที่จะปฏิบัติงาน โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 27 ม.ค.64

อนาคตธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทย

นพ.เก่งพงศ์ กล่าวด้วยว่า พลเมืองผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในโซนยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย ที่เพิ่มโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศ และด้วยไทยมีความพร้อมและได้เปรียบในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว การให้บริการ  

นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานบริการทางการแพทย์ และสถานบริการสุขภาพที่ครบวงจร จากองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทย สามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่จะเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลกได้

สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ทั้งในด้านการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) 

ส่วนการลงทุนเกี่ยวกับสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุระยาว รวมถึงโรงพยาบาลผู้สูงอายุ ขณะนี้ก็มีแนวทางที่ชัดเจน และจูงใจผู้ประกอบการ รวมไปถึงเม็ดเงินในแง่การลงทุน เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย ที่อาจจะต้องการการบริการที่หลากหลายมากขึ้น 

 

หากประเทศไทยจะต่อยอด คำว่า Medical Hub การแพทย์ครบวงจร นั้นอาจไม่ใช่มีเพียงที่พัก อาจรวมไปถึง การแพทย์ ท่องเที่ยว อาหาร ไลฟ์สไตล์ ด้านสุขภาพ และหากเทียบเคียงกับต่างประเทศที่มีขนาดเท่า ๆ กันในเรื่องของการท่องเที่ยว มองว่าอยู่ที่ระดับหลักหมื่นล้าน

ผู้สูงอายุที่อยู่ในโซนยุโรป อเมริกา หน้าหนาวของแต่ละประเทศ มันทรมานสำหรับผู้สูงวัย กลุ่มประเทศเอเซียจึงเริ่มเป็นสปอร์ไลน์ ไม่ว่าจะเป็น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย 

แต่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้าน มีความเชื่อมโยงกับทุก ๆ ประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร วัฒนธรรม ด้านบริการ (Service Mind) 

นอกจากนี้ยังมองว่า ไทยยังเป็น 1 ใน 3 ของการให้บริการด้านสาธารณสุขติดอันดับโลก ทำให้ไทยเป็นสปอร์ตไลน์เด่นในภูมิภาค อนาคตในอีก 1-2 ปี เชื่อเม็ดเงินจากต่างประเทศที่จะไหลเข้ามาจากการรับบริการในบ้านเราก็คงจะสูงขึ้นได้ไม่ยาก

 

 

 

 

 

Next Post

มธ.เปิด รพ.สนามรอบใหม่ ขนาด 470 เตียง

เสาร์ เม.ย. 10 , 2021
มธ.ผนึก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ประกาศเปิด รพ.สนาม รอบใหม่เพิ่มความจุจาก 308 เตียงเป็น 470 เตียง พร้อมรับคนไข้ 11 เม.ย.นี้ วันนี้ (9 เม.ย.2564) นายเหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงานแถลงข่าว “การเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 470 เตียง” ซึ่งจัดขึ้ […]