“ปริญญา” ตีความปมคำวินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญ-ลงประชามติ?

“ปริญญา” ตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แนะสภาฯ โหวตวาระ 3 เพื่อจะให้เกิดการลงประชามติตามที่มาตรา 256(8) ได้บัญญัติไว้ ระบุเมื่อประชามติผ่าน จึงจะเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าประชามติไม่ผ่านก็จะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

วันนี้ (17 มี.ค.2564) นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์  เฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul  สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ : รัฐธรรมนูญร่างใหม่ได้ แต่ต้อง #ทำประชามติก่อนเริ่มร่างใหม่ คำถามคือรัฐสภาจะเดินหน้า ลงมติในวาระ 3 ได้หรือไม่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ทำให้เกิดคำถามว่ารัฐสภาจะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ และจะลงมติในวาระที่สามได้หรือไม่อย่างไร? ซึ่งผมมีประเด็นวิเคราะห์ดังต่อไปนี้

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อร่างแก้ไขรํฐธรรมนูญหรือไม่

1.คำถามสำคัญที่สุดคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งผ่านวาระที่หนึ่งและวาระที่สองมาแล้ว ต้อง ตกไป ดังที่ ส.ว. บางท่านใช้คำว่าเป็น “โมฆะ” ไปแล้วจริงหรือไม่? 

จะตอบคำถามนี้ ก็ต้องดูถ้อยคำของศาลรัฐธรรมนูญว่าเขียนอย่างไร ซึ่งในหนังสือของประธานศาลรัฐธรรมนูญถึงประธานรัฐสภา ลงวันที่ 11 มีนาคม 2564 และคำวินิจฉัยกลางที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ย่อหน้าสุดท้าย (หน้า 11) มีถ้อยคำเหมือนกันทุกประการดังต่อไปนี้คือ

“(ศาลรัฐธรรมนูญ) วินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเม่ีอจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

สรุปชัดๆ คือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แต่ ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

หากประชามติผ่าน จึงเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อร่างเสร็จก็ต้องเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาลงประชามติอีกครั้ง

 

คำวินิจฉัยกลางย่อหน้าสุดท้ายที่เป็นบทสรุป ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากหนังสือจากประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 เพราะเหมือนกันทุกคำ แล้วที่พูดกันว่าคำวินิจฉัยกลางทำให้ชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระที่หนึ่งและวาระที่สองที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ผมกลับเห็นในทางตรงข้าม เมื่ออ่านย่อหน้าก่อนย่อหน้าสุดท้าย ซึ่งอยู่ที่ท้ายหน้า 10 และหัวของหน้า 11 ดังต่อไปนี้

หากรัฐสภาประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

นี่คือชัดเจนว่า ต่อเมื่อ “ผลประชามติเห็นชอบด้วย” ถึงจะมีการ “ดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป”

คำถามคือขณะนี้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือยัง? คำตอบคือยัง สิ่งที่ผ่านวาระที่หนึ่งและวาระที่สอง และรอจะเข้าวาระสามคือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ใช่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเริ่มต้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ในวาระที่สามแล้วเท่านั้น ถึงจะมีการทำประชามติ ประชามติผ่านจึงนำขึ้นทูลเกล้า เมื่อทรงโปรดเกล้าจึงมีผลบังคับใช้ จึงจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เมื่อมี สสร.แล้วถึงจะมีการเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครับ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า ต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่บอกให้ทำประชามติ ก่อนเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ทำไปแล้วเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นจะไปตีความว่าวาระหนึ่งและวาระสองที่ผ่านมาเป็นโมฆะไม่ได้ เว้นแต่มีธงอยู่แล้วว่าจะคว่ำในวาระสาม หรือจะให้เป็นโมฆะไปเลยเช่นนี้

เริ่มต้นใหม่หรือไม่ 

2.ถ้าบอกว่าจะต้องไปเริ่มต้นใหม่หมดด้วยการทำประชามติก่อนแล้วจึงค่อยเสนอญัตติแก้ไขมาตรา 256 อีกครั้ง คำถามของผมคือ ตรงไหนในรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภามีอำนาจทำประชามติก่อนการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ? คำตอบคือไม่มี ประชามติที่จะถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจะมีขึ้นได้ ต่อเมื่อรัฐสภาได้ลงมติผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวาระที่สามแล้วเท่านั้น ส่วนประชามติตามมาตรา 166 เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภา

ขอเรียนว่า ดังนั้น ความหมายของการลงมติวาระที่สามจริงๆ ก็คือ รัฐสภาเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติ ว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เมื่อประชามติผ่านจึงนำขึ้นทูลเกล้า และเมื่อทรงโปรดเกล้าประกาศใช้ถึงจะมี สสร. และจึงจะมีการเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้ารัฐสภาไม่ผ่านวาระสาม ก็หมายความว่ารัฐสภาไม่ประสงค์จะให้มีการออกเสียงประชามติให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินนั่นเองครับ

ต้องทำประชามติกี่ครั้ง 

3.คำถามข้อต่อมาคือ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องมีการ ทำประชามติกี่ครั้ง? ถ้าอ่านดูจะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าให้ทำเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือก่อนเริ่มร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ หากจะกลับไปเริ่มต้นใหม่และทำประชามติก่อน เมื่อประชามติผ่านจึงค่อยเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เท่ากับต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งเกินไปกว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ไว้

ขณะอยู่ในขั้นตอนที่จะนำไปสู่การมีการลงประชามติให้ประชาชนตัดสินว่าสมควรมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ไม่ใช่การเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปแล้ว ผมจึงเห็นว่า การลงมติวาระสามสามารถทำได้ และจะทำให้มีการลงประชามติเพียง 2 ครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

คำถามต่อมาคือ ถ้ารัฐสภาจะไม่ให้มีวาระสามหรือไม่ผ่านวาระสาม เหตุผลคืออะไร?

เหตุผลคือเพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเช่นนั้นหรือ? ผมได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยว่าร่างใหม่ทั้งฉบับได้ แต่ต้องมีการทำประชามติก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่แต่ประการใด รัฐสภาได้ผ่านวาระที่หนึ่งรับหลักการแล้วว่าจะมีการร่างใหม่ทั้งฉบับ และได้ผ่านวาระสองกำหนดที่มาและจำนวนของ สสร. ไว้เรียบร้อยแล้ว ทำไมอยู่ดีๆ จะมาคว่ำในวาระที่สาม?

 

ผมพอจะนึกออกได้เหตุผลเดียวครับ คือรัฐบาล และวุฒิสมาชิก (ซึ่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลได้เลือกไว้) ไม่ได้ประสงค์จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาตั้งแต่แรกนั่นก็แปลว่าหลอก ประชาชนมาตั้งแต่เริ่มต้น หรือถ้าไม่หลอกมาตั้งแต่แรก แต่จะมาเปลี่ยนใจในตอนนี้ ก็แปลว่ารัฐบาล เบี้ยว ประชาชน 

พราะรัฐสภาได้รับหลักการในวาระที่หนึ่ง และผ่านวาระที่สองมาแล้วอยู่ดีๆจะเลิกกันไปดื้อๆ แล้วกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา คนเขาก็จะเห็นได้ว่า เจตนาคือไม่ให้มีสสร.เพื่อต้องการที่จะควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดโดยใช้เสียงส.ว.ที่ตนเลือกไว้ ใช่หรือไม่

ถ้าเป็นแบบนั้นผมก็เกรงว่าประชาชนที่เขาไม่ใช่พวกรัฐบาลเขาจะไม่ยอม การเมืองนอกสภาก็จะไปกันใหญ่ แล้วพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลด้วยเหตุผลว่าจะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะถูกกดดันให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลแน่ ถ้าไปถึงจุดนั้นรัฐบาลก็นับถอยหลังได้เลยครับ

5.ให้มีการทำประชามติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เป็นทางออกที่ดีที่สุด

ถ้าประชาชนประสงค์จะใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป ประชาชนก็จะลงประชามติไม่ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้าประชาชนไม่ต้องการรัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนก็จะลงประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดีที่สุดแล้วในขณะนี้
ความจริงการให้ทำประชามติมีหนทางทำได้ถึงสามทางคือ #หนึ่ง กลับไปเริ่มต้นใหม่โดยทำประชามติก่อน

สองพักวาระที่สามไว้ แล้วให้ทำประชามติก่อน ถ้าประชามติผ่าน จึงค่อยให้มีการลงมติวาระที่สาม และ สาม รัฐสภาลงมติผ่านวาระที่สาม ก็จะนำไปสู่การทำประชามติได้ทันที

วิธีที่หนึ่งและวิธีที่สองเป็นวิธีที่รัฐสภา ต้องไปขอให้คณะรัฐมนตรี ดำเนินการให้ตามมาตรา 166 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และก็ต้องมีการทำประชามติถึง 3 ครั้ง ทั้งยังมีปัญหาทางกฎหมายอีกบางประการ จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดแน่

วิธีที่ดีที่สุดคือ รัฐสภาผ่านวาระสาม ก็จะเกิดการลงประชามติตามที่มาตรา 256(8) ได้บัญญัติไว้ในทันที ต่อเมื่อประชามติผ่าน จึงจะเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าประชามติไม่ผ่านก็จะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะตรงตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ

สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ : #รัฐธรรมนูญร่างใหม่ได้ แต่ต้อง #ทำประชามติก่อนเริ่มร่างใหม่ คำถามคือรัฐสภาจะเดินหน้า…

โพสต์โดย Prinya Thaewanarumitkul เมื่อ วันอังคารที่ 16 มีนาคม 2021

 

 

Next Post

DZNE and Eisai Enter Into Research Collaboration Agreement Aiming for Novel Drug Discovery for Neurodegenerative Disorders

พุธ มี.ค. 17 , 2021
TOKYO, Mar 17, 2021 – (JCN Newswire via SEAPRWire.com) – Deutsches Zentrum fur Neurodegenerative Erkrankungen and Eisai Co., Ltd. today announced that both parties have entered into a research collaboration agreement aiming to create potential novel treatments for neurodegenerative disor […]