ชี้รัฐเลือกเปิดข้อมูลให้สาธารณะ อ้างกฎหมายปกปิด-หวั่นกระทบหน่วยงาน

สื่อ-องค์การทำงานด้านข้อมูลฯ ระบุรัฐเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data) ได้ดีขึ้น เเต่ยังไม่เป็นที่ต้องการของสังคม เลี่ยงให้ข้อมูลด้านการเมือง และส่วนที่กระทบกับหน่วยงานของรัฐ ขณะที่ยืนยันว่า กฎหมายไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อปกปิดข้อมูลของรัฐ

เครือข่ายองค์กรด้านข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนสังคม จัดงาน “เปิดข้อมูลรัฐสู่สาธารณะ เพื่อประชาธิปไตย” (Open Data for Democracy)

เพื่อเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์ของข้อมูลสาธารณะ นำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการรับนโยบายข้อมูลเปิด ไปใช้ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน เเละภาคประชาสังคม โดยข้อมูลสาธารณะ ถือเป็นทรัพยากรสำคัญในยุคดิจิทัล

น.ส.ธนิสรา เรืองเดช ผู้บริหารบริษัท พันซ์อัพ เวิล์ด จำกัด เเละโครงการ ELECT ในฐานะตัวเเทนเครือข่ายองค์กรด้านข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนสังคม กล่าวว่า ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารเเละถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ในสังคม

งานครั้งนี้เป็นการรวมตัวขององค์กรที่ทำงานด้านข้อมูล เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลของภาครัฐมาเเลกเปลี่ยน เพื่อหาทางออกให้ไทยสร้างสังคมที่ Open Data ช่วยขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้จริง ภายใต้เเนวคิด “Open Data for Democracy”

ที่ผ่านมา ประชาชนแสดงความคิดเห็น และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่ปัญหาที่เจอในทุกวันนี้คือการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะของภาครัฐ ที่บางหน่วยงานยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยไม่ครบถ้วน หรือเปิดเผยแล้วนำไปใช้งานต่อได้ยาก

น.ส.ธนิสรากล่าวต่อว่า ในฐานะคนที่ทำ Civic Tech (เทคโนโลยีภาคประชาชน) มองว่า ขั้นแรกของสังคมประชาธิปไตยคือ

ทำอย่างไรให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นง่ายที่สุด นั่นก็คือการที่รัฐเปิดเผยข้อมูล ในรูปแบบที่สมบูรณ์และนำไปใช้ต่อง่ายที่สุด

เพื่อให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบ และช่วยคิดช่วยทำต่อได้ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในระดับต่อๆ ไป เราเชื่อว่า Open Data ก็เหมือนประชาธิปไตยในประเทศนี้ ที่ต้องใช้เวลาสร้างเเละขับเคลื่อน แต่ยิ่งเป็นการวิ่งระยะไกล จึงจำเป็นที่เราต้องเริ่มวันนี้ ช่วยให้สังคมดีขึ้นในอนาคต

ภายในงาน มีเวทีเสวนาใน 2 หัวข้อ “ความฝันเเละความหวัง หาก Open Data ช่วยขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้จริง” โดย Mr. Lee Long Hui ผู้ช่วยบรรณาธิการ (Assistant Editor) จาก Malaysiakini ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า สถานการณ์ Open data ของประเทศมาเลเซีย เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น ในช่วงการเลือกตั้งในปี 2018-2019

เเต่ขณะเดียวกันปัจจุบันยังมีอุปสรรคในการขับเคลื่อนอยู่มาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2020 ทำให้มีข้อจำกัดอยู่มากในการเปิดเผยข้อมูล

การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ เป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้ภาครัฐ ภาคเอกชน เเละประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกเเบบประเทศ

Mr. Lee Long Hui กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา อย่างประเทศมาเลเซีย ข้อมูลช่วยให้ประชาชนเข้าถึงประเด็นสำคัญทางการเมืองในประเทศ อย่างกรณีที่ครอบครัวของ Najib Razak อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ใช้ทรัพย์สินสาธารณะ เพื่อแสวงหาและได้รับมาซึ่งประโยชน์ส่วนตัว

การเข้าถึงข้อมูลของรัฐก็สามารถทำให้ภาคประชาชนรับรู้เรื่องราว และใช้ข้อมูลเพื่อต่อสู้เรียกร้องในเรื่องนี้ได้ และการต่อสู้ดังกล่าว กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลของ Najib Razak ล้มในเวลาต่อมา

การติดตามนโยบายของพรรคต่างๆ ว่า สามารถดำเนินการตามที่ให้สัญญาไว้หรือไม่ การตรวจสอบใช้งบประมาณของประเทศ ขณะที่ภาคประชาชนเองก็ได้นำเสนอประเด็นปัญหาที่ดินให้รัฐได้รับรู้และนำไปสู่การเเก้ปัญหา

Mr. Lee Long Hui กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ Open data ในมาเลเซีย ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศไทย

ดังนั้นความฝันเเละความหวังของตนที่อยากให้เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ

อยากให้รัฐเปิดเผยข้อมูลสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล COVID-19 ในประเทศ ให้ stakeholder ได้เอาข้อมูลไปใช้

ด้านนางอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูล นอกจากจะเป็นการตรวจสอบรัฐบาล และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นสื่อว่า

ถ้ามีข้อมูลสำคัญก็ไม่ควรปิดกั้นตัวเอง แต่ต้องนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการเปิดข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อเเก้ปัญหาต่างๆ ได้

ในฐานะที่อยู่ในแวดวงคนทำงาน Data ตนมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ประเมินการเปิดเผยข้อมูล 3 ประการ คือข้อมูลต้อง Timely (ทันสมัยและทันต่อเวลา) Accessible (เข้าถึงได้ง่ายและเปิดในรูปแบบที่นำไปใช้ต่อยอดได้) และคำนึงถึงเรื่อง Data Aggregation (เปิดในระดับที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้)

พอมาดูตัวอย่างเว็บไซต์ DGA ของภาครัฐ ก็จะเห็นปัญหา เช่น มีข้อมูลที่ว่าด้วยการคมนาคมของประชาชนในปี 2562 ซึ่งถูกอัปเดตในปี 2563 ซึ่งเมื่อไม่ทันต่อเวลา จะวิเคราะห์ข้อมูลได้ทันท่วงทีได้อย่างไร

หรือการที่ภาครัฐชอบ upload หนังสือเอกสารทั้งเล่มลงเว็บไซต์ ซึ่งอ่านไม่สะดวก

อาจพูดได้ว่า เรามาไกลพอสมควรในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เพราะถ้าเป็นสมัยก่อนเรื่องนี้คงทำได้ยากกว่านี้ อาจต้องไปขอดูที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพียงแต่อนาคตก็ต้องพัฒนากันต่อไป

ตนเชื่อว่า ข้อมูลและข้อเท็จจริง สามารถเอามาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ได้ อย่างเช่น เรื่องฐานข้อมูลสิทธิและเสรีภาพ ของ iLaw ที่แสดงให้เห็นความผิดเพี้ยนของกฎหมาย และความไม่เข้าใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย

ในฐานะที่เคยทำเรื่องแนวนี้ ขอเล่าว่า การหาข้อมูลมีความยากมาก ต้องไปนั่งค้นฐานข้อมูลของศาลอาญา เพื่อไล่เช็คหมายเลขคดีดำไปทีละกรณี เพื่อหารูปแบบคดี ซึ่งทำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไปกับคดีหมิ่นประมาทมาก ซึ่งถือว่าผิด concept กฎหมาย

หรืออย่างเรื่องการทำเว็บไซต์ vote 62 ที่ประชาชนอยากรู้ผลเลือกตั้งแบบ real time ซึ่งต้องรวดเร็ว ณ ตอนนั้นก็ต้องข้อมูลหาเยอะมาก เพราะคิดว่า กกต. ไม่น่ามีประสิทธิภาพเพียงพอในการ provide ข้อมูลแบบ real time นำมาสู่การสร้างฐานข้อมูลเอง

โดยสร้างหน้าเว็บไซต์ให้ประชาชน สามารถช่วยกันกรอกคะแนนผลเลือกตั้ง และสามารถ upload รูปภาพประกาศคะแนนเลือกตั้ง เพื่อใช้ตรวจเช็คความถูกต้อง

ขณะที่ นายอิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากจะพัฒนา Open Data ในไทยให้ดีขึ้นได้ ต้องเริ่มออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูล (data infrastructure) ให้ชัดเจนก่อน

เมื่อพูดถึง Open data เราจะนึกถึงคน 2 กลุ่ม คือ คนอยากได้ข้อมูลเเละคนที่มีข้อมูล ซึ่งเเบ่งความสัมพันธ์ของคน 2 กลุ่มได้ 4 ประเภท ได้แก่ Hierarchy (ลำดับชั้น) ถ้าอยากได้ข้อมูลต้องไปขอผ่านกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540

Market (ตลาด) ข้อมูลเปรียบเป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง หากอยากได้ต้องใช้เงินซื้อ ยกตัวอย่างข้อมูลบัตรเครดิต

Network (เครือข่าย) มีเจ้าของข้อมูลร่วมกัน หากอยากได้ให้มาเเชร์ข้อมูลเเลกเปลี่ยนซึ่งกันเเละกัน

เเละ Bazar (ตลาดนัด)คือการเอาข้อมูลมากองรวมกัน ใครอยากได้ข้อมูลใดก็หยิบไปใช้

หากเราอยากให้ข้อมูลเปิด เราไม่ควรจำกัดเจ้าของของข้อมูล ยกตัวอย่างหากอยากให้ Open government data ภาครัฐก็ควรเปิดเผยข้อมูลสาธารณะออกมาทั้งหมด โดยที่ประชาชนไม่ต้องร้องขอ

นายอิสร์กุล กล่าวต่อว่า การเปิดข้อมูลอย่างเดียวไม่เพียงพอ รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อการตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยออกมา โดยการทำ Platform รับฟังความคิดเห็น

เเละเมื่อประชาชนเเสดงความคิดเห็นไปเเล้ว รัฐได้ทำการเเก้ไข และแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นๆ อย่างไร ก็ควรบอกให้ประชาชนทราบ ถึงจะพูดได้ว่า Open data จะนำไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศได้ เพราะประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้จริง

สำหรับสถานการณ์ Open data ไทย ในปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน (open data barometer 2016) ที่ไทยติดอันดับที่ 53 ของโลก แต่ก็ถือว่ายังได้คะเเนนที่น้อย

แม้ปัจจุบันเปิดเผยมากขึ้นก็จริง เเต่ยังไม่เพียงพอ ความหวังที่กำลังเกิดขึ้นคือ ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลสาธารณะ ที่กำลังมีการพิจารณากันอยู่ หากออกมาได้ก็อาจจะทำให้ไทยมีการพัฒนาเรื่อง Open data ได้ดียิ่งขึ้น

ส่วน ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้วยโจทย์ของการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ก็อาจทำให้เกิดข้อพิจารณาขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้วหลักการ ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นคือ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ซึ่งถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในทางปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น โดย PDPA ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงอาการของโรคนี้

ส่วนเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เราก็คงเห็นปัญหากันอยู่แล้ว อย่าว่าแต่เรื่อง Machine Readable เลย คนยังไม่ Readable ด้วยซ้ำ ได้ไฟล์ PDF มา ก็ต้องเอาไฟล์มาแปลง 3-4 รอบ กว่าจะสามารถใช้ได้

ซึ่งแม้จะมี PDPA รัฐก็มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหากมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ก็ต้องดูเป็นกรณีไป ไม่ใช่ว่าเช็คแล้วเป็นข้อมูลส่วนบุคคลก็ไม่เปิดเผยหมด

จริงๆ แล้วรัฐต้องมีฐานข้อมูลในการประมวลผลข้อมูลข่าวสาร ซึ่งพ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ก็กำหนดให้รัฐต้องมีหน้าที่แล้ว และมีบทบัญญัติที่บอกว่า ต้องพิจารณา พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ด้วย

ดร.พีรพัฒกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นพิจารณาเรื่องข้อมูลข่าวสารบุคคล มีช่องทางตามกฎหมายให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มาก เพราะตามหลักการแล้ว อะไรที่ไม่ใช่ข้อยกเว้นตามกฎหมายก็ต้องถูกเปิดเผยได้

หากถามว่ารัฐไทยถามต้องทำอย่างไร รัฐก็มีวิธีการในเรื่องนี้หลายประการ เช่น การชั่งน้ำหนักประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล อาจแจ้งกลับไปหาเจ้าของข้อมูล เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล หรือการ Anonymization ข้อมูล หรือการทำให้ข้อมูลส่วนตัวกลายข้อมูลเป็นนิรนาม

ดังนั้นแล้ว PDPA จึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งในมาตรการที่รัฐต้องพิจารณาเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการปกปิดข้อมูลข่าวสาร รัฐยังจำเป็นต้องใช้วิธีการต่างๆ เพื่อดำเนินการตามหลักการ ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะใช้การชั่งน้ำหนักประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล หรือการ Anonymization ข้อมูล เป็นต้น

ซึ่งหากรัฐอ้างว่า มี PDPA แล้ว จึงไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ในแง่เนื้อหา ถือว่าผิดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะ PDPA มีเพื่อให้รัฐพิจารณาเรื่องการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และเพื่อให้รัฐใช้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

โดยหลักการของ PDPA คือการคุ้มครอง Privacy จะทำอย่างไรไม่ให้การใช้ข้อมูลไปกระทบสิทธิส่วนบุคคล ส่วน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารก็มีระบุเรื่องนี้เช่นกัน ที่ว่าต้องมีการพิจาณาเรื่องความยินยอม แต่สุดท้ายหากเป็นประเด็นพิจารณาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ก็ต้องดูใน PDPA เพราะมีมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิที่สูงกว่า

ในท้ายที่สุดหากจะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รัฐก็มีหน้าที่และภาระต้องพิสูจน์ว่า เหตุใดจึงไม่เปิดเผย เข้าข้อยกเว้นใดตามกฎหมาย ไม่ใช่ให้ประชาชนเป็นผู้มีภาระการพิสูจน์

ขณะเดียวกันในหัวข้อเสวนา “เปิดเผย โปร่งใส สร้างประชาธิปไตยไทย ผ่าน Open Government”

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คุณภาพของ Open Government data วัดจากเกณฑ์ 3 ด้าน ได้แก่ เข้าถึงข้อมูลได้หรือไม่/ เข้าถึงเเล้วใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เเละข้อมูลมีการเเชร์หรือบูรณาการร่วมกับข้อมูลส่วนอื่นๆ ในประเด็นเดียวกันได้

หากมีครบทั้ง 3 ด้าน นั่นหมายถึงประเทศนั้นมีการ Open Government อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ประเทศไทย มีปัญหาเรื่องเครื่องมือที่ไม่ดีมากนัก

ระบบราชการไทยไม่ได้ออกเเบบให้รัฐเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ เเละมองความลับเป็นสิ่งที่มีมูลค่า เเบบเเผนหรือโครงสร้างการทำงานไม่ชัดเจน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่กล้าทำงาน ทำออกมาจะผิดหรือไม่ คนจะตีความอย่างไร หากทำผิดเราก็จะโดนลงโทษ ขณะเดียวกันโครงสร้างการรับผิดชอบในระบบราชการไทย มันจะโยนความรับผิดชอบไปที่คนปฏิบัติ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าทำงาน

ดร.ธานี กล่าวต่อว่า เรามีความหวังว่า Open data จะมีประสิทธิภาพ เเต่อาจจะต้องทำให้ทัศนคติของคนในสังคมเข้าใจตรงกัน ปัจจุบันในสังคมมองเรื่องความมั่นคงต่างกัน

กลุ่มแรก มองความลับเป็นความมั่นคง ไม่ควรเปิดเผย ขณะที่คนรุ่นใหม่มองความมั่นคงว่า เกิดจากการมีส่วนร่วม เเต่ทั้งสองอย่างสามารถตกลงเเละสร้างเข้าใจกันได้

ขณะเดียวกันอีกสิ่งที่จะช่วยให้ open data เกิดขึ้นได้จริง คือการลด Pain point ของรัฐ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยได้ เนื่องจากภาระงานที่เยอะของเจ้าหน้าที่รัฐที่หนักอยู่เเล้ว หากไปเพิ่มความยุ่งยากก็อาจไม่อยากทำ

แต่เรื่องนี้เทคโนโลยีช่วยได้ให้ระบบเเละโครงสร้างดีขึ้น อีกทั้งคนที่อยู่ในองค์กร ก็น่าจะอยากวางระบบจัดการในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพได้

หากถามว่า รัฐบาลเเต่ละสมัยมีผลต่อการทำให้ open data มีประสิทธิภาพหรือไม่ มองว่ามีผล รัฐบาลที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะไม่มีการเปิดข้อมูลที่ไม่เป็นผลบวกต่อรัฐบาล และจะเน้นเปิดข้อมูลที่ไม่ใช่การเมือง ที่เป็นประเด็นแกนกลางหลักของประเทศ แต่จะเปิดเรื่องประเด็นสังคมอื่นๆ แทน

อย่างไรก็ตาม อยากให้ดูแลความหวังที่อยากให้มี open data อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นในการติดตามประเด็นต่างๆ และอาจสามารถพัฒนาตนเอง ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เพื่อเป็นผู้นำในการติดตามประเด็นนั้นๆ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไปได้จริง

ด้าน นายรพี สุวีรานนท์ Co-Founder & Full-Stack Developer จาก ELECT เเละ Boonmee Lab กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลอาสารับหน้าที่มาทำงานเพื่อประชาชน การ Open government data ก็ถือเป็นงานบริการของรัฐ ไม่ใช่ปกปิดเเละยึดถืออำนาจเหล่านั้นไว้

และรัฐเองก็ควรมีตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ถ้ามองในหลักว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศ ต้องได้ข้อมูลที่ง่ายเเละไม่ต้องพยายามมาก

ประสบการณ์การทำงานในโครงการ ELECT พบว่า ข้อมูลบางอย่างได้รับช้าหรือไม่ได้รับเลย ทำให้คนไม่ทราบและไม่เข้าใจข้อมูล ทำให้ไม่สามารถดำเนินการหรือตอบโต้ได้อย่างถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้ความคิดอ่านของประชาชนด้อยลงไปเพราะข้อมูลไม่เพียงพอ

ส่วนความก้าวหน้าของไทยพบว่า มีการเปิดเผยข้อมูลกว่า 2,700 ชุดข้อมูลเเล้ว ซึ่งจากอดีตไม่มีเลย เมื่อดูทิศทาง เห็นว่ารัฐค่อยๆ เปิดข้อมูล และมีความพยายามบูรณาการ จากหลากหลายหน่วยงาน มาช่วยตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่

อย่างไรก็ตาม รัฐก็ควรตั้งเป้าหมายให้ไกลกว่าเดิม และครอบคลุมทุกด้านมากขึ้นและหลาย Platform มากขึ้น ไม่ใช่เเค่ด้านการเมืองอย่างเดียว เพราะยังมีข้อมูลอีกหลายมิติ ที่คนทำข้อมูลอยากทราบ เช่น คำตัดสินของศาล ความถี่ของการเกิดอาชญากรรม หรือรายงานการประชุมสภาฯ ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ เป็นต้น

นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า Open Government มีปัญหา 2 อย่าง คือ ข้อมูลข่าวสารที่ควรเปิดเผยกลับไม่เปิดเผย และข้อมูลข่าวสารมีการเปิดเผยแต่ไม่สามารถเอาไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอ

คิดว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารออกแบบมาให้บังคับใช้ในเชิงรับ เมื่อเกิดกรณีที่ไปขอดูข้อมูลข่าวสาร แล้วหน่วยงานรัฐไม่ยอมเปิดเผย เลยมาเข้ากรณีตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร แต่กฎหมายนี้ไม่มีมาตรการเชิงรุก ทำนองว่าจะมีองค์กรกลาง ที่สามารถดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร

ซึ่งปัญหาการตีความ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ก็มีให้เห็น เช่น การตีความ “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 14

หรือ “การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” ตามมาตรา 15 ที่มีการตีความอย่างกว้างมาก อันนำไปสู่การตีความ เพื่อปกปิดข้อมูลข่าวสารไปหมด

ซึ่งทางแก้คือ บทบัญญัติควรระบุให้ชัดเจน เช่น ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 14 คือ เรื่องการถวายความปลอดภัย ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 คือ เรื่องยุทธวิธีการรบ ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางการทหาร ยังไงก็ต้องเปิดเผย

ปัญหาการตีความกฎหมายมีให้เห็นอยู่ตลอด เช่น กรณีนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร ที่ทางทีมงาน the matter ไปขอดูข้อมูลจาก ป.ป.ช. ก็ได้กระดาษเปล่ามาหลายหน้า โดยทาง ป.ป.ช. ก็มีข้ออ้างมากมาย ซึ่งตรงนี้ควรต้องเขียนกฎหมายให้ชัด เพื่อการเกิดการตีความกฎหมายบนพื้นฐานของเหตุผล ไม่ใช่ความเชื่อ อย่าเขียนกฎหมายกว้างๆ แล้วเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐขีดเส้นการตีความกฎหมายด้วยตนเองอย่างเกินขอบเขต

สำหรับประเด็นที่ว่า ข้อมูลอะไรที่ควรเปิดเผย ก็มีตัวอย่างจากเรื่องที่เคยทำมาก่อน เช่น ข้อมูลเรื่อง สว. ขออยู่ปีกว่าจึงได้มา แต่ข้อมูลไม่แจกแจงว่า 250 คนนั้นมีที่มาอย่างไร และมีความเหมาะสมอย่างไร

อันนี้คือเราเข้าถึงข้อมูลได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ในสิ่งที่เราอยากรู้ อีกเรื่องก็คือข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นเรื่องที่ใช้ดุลพินิจสูง ยิ่งต้องโปร่งใส

อย่างเรื่องคุณแม่จ่านิว ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพียงเพราะคำว่า “จ้า” พอข้อมูลอะไรทำนองนี้หลุดออกมา ก็ทำให้ประชาชนเห็นได้ว่า พอปราศจากการตรวจสอบก็จะเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น

การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกิดได้มากขึ้น ก็คือสร้างความต้องการให้มากกว่านี้ ประชาชนต้องอยากรู้เรื่องรัฐมากกว่านี้ เพราะเมื่อสังคมรู้สึกกับเรื่องราวมากเท่าไหร่ ก็จะมีการไล่ตามเรื่องนั้น ๆ มากขึ้น

ขณะที่ภายในงานมีนิทรรศการ Dear (Damn) Data ร่วมชมเเละเเชร์ประสบการณ์การทำงานกับข้อมูล ที่กว่าจะได้ข้อมูลของเเต่ละองค์กรก่อนออกมาเป็นชิ้นงาน เเละกิจกรรมเเลกเปลี่ยนข้อมูล Data set ของเเต่ละหน่วยงานเพื่อใช้ต่อยอดแก้ปัญหาสังคม ซึ่งมีประชาชนเเละเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆให้ความสนใจร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

Next Post

โซเชียลถล่ม! "ไม่เหมาะสม" ปีนเมรุเก่าวัดจมใต้อ่างคลองกะทูน

จันทร์ มี.ค. 8 , 2021
โซเชียลวิจารณ์ 3 วัยรุ่น อัดคลิปดัง ขณะปืนขึ้นเมรุเก่าที่เคยจมน้ำใต้อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน จ.นครศรีธรรมราช ที่เคยเกิดภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มหมู่บ้าน และชุมชนอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 22 พ.ย.31 และมีผู้เสียชีวิตสูญหายนับร้อยคน วันนี้ (8 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “อยาก […]