คาดการณ์ขยะติดเชื้อจาก รพ.สนาม 1.82 กก.ต่อเตียงต่อวัน

อธิบดีกรมอนามัยเผย 4 เดือนแรกปีนี้ มีขยะติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มเฉลี่ยวันละ 28.4 ตัน คาดโรงพยาบาลมีขยะติดเชื้อ 2.85 กก.ต่อเตียงต่อวัน ขณะที่โรงพยาบาลสนาม 1.82 กก.ต่อเตียงต่อวัน

วันนี้ (3 พ.ค.2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จนถึงวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีมูลฝอยติดเชื้อตั้งแต่เดือน ม.ค. – เม.ย.2564 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 22.9 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 28.4 ตันต่อวัน

คาดการณ์แหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 จากโรงพยาบาล 2.85 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน, โรงพยาบาลสนาม 1.82 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน, State Quarantine 1.32 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และจากห้องปฏิบัติการ 0.05 กิโลกรัมต่อตัวอย่าง

ทั้งนี้ มีข้อเสนอเพื่อเตรียมการรองรับการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 โดยแบ่งเป็น 3 ระดับสถานการณ์ คือ 1.ระดับสถานการณ์ปกติ มีหน่วยงานรับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อหลัก 14 แห่ง สามารถกำจัดได้ 273.5 ตันต่อวัน และ Onsite Treatment 27 แห่ง กำจัดได้ 27 ตันต่อวัน

2.ระดับสถานการณ์ระดับปานกลาง จัดการใช้ทรัพยากรที่มีศักยภาพเทียบเท่าเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ โดยใช้เตาเผากากของเสียกำจัดได้ 50 ตันต่อวัน และเตาเผาปูนซิเมนต์ และ 3.ระดับสถานการณ์รุนแรง ใช้วิธีการจำกัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยการทำลายเชื้อ และเผาในเตาเผามูลฝอยทั่วไป

วิธีจัดการขยะติดเชื้อในครัวเรือน-ชุมชน

อธิบดีกรมอนามัย ยังกล่าวถึงแนวทางจัดการมูลฝอยติดเชื้อในครัวเรือนหรือชุมชน กรณีพบผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากในพื้นที่ระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงได้ ให้ใช้วิธีการดังนี้

1. เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อ (สารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ 5,000 ppm หรือแอลกอฮอล์ 70%) บริเวณ ปากถุงแล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น จากนั้นมัดปากถุงชั้นนอกให้แน่นและฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง

2. เคลื่อนย้ายไปพักยังที่พักที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อรอประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้อง

3. หลังจัดการมูลฝอยแล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

สำหรับประชาชนทั่วไปหากต้อง “ทิ้งหน้ากากอนามัย” ควรถอดหน้ากากอนามัยจากด้านหลัง จากนั้นให้พับหรือม้วนหน้ากากส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าหากันจนมีขนาดเล็ก แล้วมัดด้วยสายรัดให้แน่น หากมีจุดทิ้งหน้ากากโดยเฉพาะ ให้ทิ้งลงในถังหรือภาชนะนั้น แต่หากสถานที่นั้นไม่มีจุดสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย ให้นำหน้ากากอนามัยที่พับแล้วใส่ถุงพลาสติก จากนั้นมัดหรือปิดปากถุงให้แน่น ก่อนทิ้งลงในถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังการทิ้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขยะติดเชื้อพุ่ง 20 ตันต่อวันวาง 1,000 จุดทิ้งแมสก์ “พับ ก่อน ทิ้ง”

ก่อนสายไป ! “หมอประสิทธิ์” ชี้ COVID-19 ไทยใกล้จุดวิกฤตสูงสุด

เปิด 10 เขต กทม.ติดโควิดสูงสุด – ปัจจัยเสี่ยง 31 ผู้เสียชีวิตนิวไฮ

 

Next Post

สธ.ประสาน "แล็ปเอกชน" ส่งต่อผู้ติดเชื้อรักษาเร็วขึ้น

จันทร์ พ.ค. 3 , 2021
สธ.หารือห้องปฏิบัติการเอกชน ส่งต่อผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพื่อรักษาตัวเร็วขึ้่น ผ่านระบบ 1668 หลังประสบปัญหาจัดหาเตียงในช่วงก่อนหน้านี้ วันนี้ (3 พ.ค.2564) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์  ร่วมแถลงถึงความร่วมมือการรักษาผู้ป่วย COVID […]