“คลัง” เผยปี 65 ตั้งงบฯ 1 แสนล้านชำระหนี้ ยึดหลัก “ครบถ้วน-ตรงเวลา”

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ก.คลัง เผยปี 65 ชำระหนี้สาธารณะ 1 แสนล้านบาทตามกรอบวินัยการคลัง ยึดหลัก “ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา” อย่างเคร่งครัด

วันนี้ (1 มิ.ย.2564) นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย.2564 มีจำนวน 8.59 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.91 ของ GDP ซึ่งหนี้สาธารณะจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมากู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณกู้เพื่อโครงการลงทุนของภาครัฐ ค้ำประกันเงินกู้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล หรือ มีการตรากฎหมายพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ในแต่ละปีสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบชำระหนี้ให้กับกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจเพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระ โดยเมื่อได้รับงบชำระหนี้แล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้นำไปชำระหนี้โดยยึดหลัก “ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา” อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จะต้องได้รับการจัดสรรและชำระอย่างครบถ้วน ไม่สามารถลด ตัดทอน หรือโยกงบฯดังกล่าวไปใช้ในการอื่นได้ เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเสียความน่าเชื่อถือจากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากผิดนัดชำระหนี้แล้ว จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน

ในส่วนของการจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้นั้นคณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐได้มีการประกาศเมื่อปี 2561 กำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการชำระหนี้ โดยต้องได้รับการจัดสรรไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวได้มีการศึกษาแล้วว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมในการบริหารหนี้ของประเทศ

อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องระดมเงินเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จากทุกแหล่งเงินเพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งรัฐบาลเห็นว่างบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ที่กระทรวงการคลังได้รับจัดสรรและอยู่ระหว่างรอการชำระหนี้ตามงวดจำนวน 35,303 ล้านบาท นั้น เป็นวงเงินที่สามารถนำไปให้ความช่วยเหลือได้มาก อีกทั้ง กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างหนี้แทนการชำระคืนหนี้ได้ รัฐบาลจึงขอให้กระทรวงการคลังโอนงบดังกล่าวเข้างบกลางฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งการโอนงบชำระคืนต้นเงินกู้ดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระต้นเงินกู้ต่ำกว่าที่คณะกรรมการประกาศไว้เดิม

ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดสัดส่วนดังกล่าวใหม่ให้สอดคล้องข้อเท็จจริงภายใต้สถานการณ์ที่มีอยู่ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่าเมื่อสภาวะการเงินการคลังของประเทศกลับมาเป็นปกติ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการปรับสัดส่วนกลับมาเท่าเดิมในโอกาสแรก

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐจึงได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณ เพื่อการชำระต้นเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 4.0 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้รับงบชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่คณะกรรมการกำหนดที่ร้อยละ 2.5-4.0 โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้คำนึงถึงการรักษาวินัยในเรื่องการชำระหนี้ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของประเทศ ความมั่นคง และการมีเสถียรภาพทางการคลังเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ วันที่ 5 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษในงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก โดยในช่วงหนึ่งได้ระบุว่า หนี้สาธารณะของไทยขณะนี้ซึ่งที่อยู่ราว 50 % แต่ในอดีตในช่วงที่ไทยเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มีตัวเลขอยู่ที่ 60กว่า% แต่เมื่อเศรษฐกิจมันโตขึ้นตัวหารโตขึ้นและมีการชำระหนี้ทำให้หนี้ลดกลับลงมาอยู่ที่ประมาณ 40 % แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว หนี้สะสมก็กลับมาที่ 50 % ไปจนใกล้ ๆ จะ 60 % ซึ่งตัวเลข 60 % เป็นตัวเลขการบริหารหนี้ที่ดีถ้าทำให้อยู่ในระดับ 60 % ของรายได้ประชาชาติ (GDP) เมื่อเทียบกับประเทศทั่วไป ขณะที่ญี่ปุ่นมีปัญหามานานหลายสิบปีตัวเลขเงินกู้ของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 200% ของ GDP ขณะที่อเมริกาก็อยู่ที่ใกล้ๆ 100% ในช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา

ปีที่แล้วผมเป็นคนที่ออกไปพูด 2-3 ครั้ง ว่าถ้ากู้ไปถึง 60 % 70 % หรือ 80 % ผมยังยอม เพราะขณะนี้เป็นขณะที่ต้องกู้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจ ผมเรียกว่าเป็น Survival Economic คุณอย่าได้เอามาตรฐานที่แบบกำลังดี ๆอยู่ มาพูด ถ้าดีแล้วไปกู้แสดงว่าแย่แล้ว แสดงว่าข้างในคุณกำลังเน่า แต่ขณะนี้มันเน่ากันหมดซึ่งคุณกำลังรักษาไม่ให้มันลงไปข้างใน แต่ถ้าบอกว่าแบบนี้ไม่เอา อย่างนี้ผมว่าฉลาดไม่พอ

 

 

 

Next Post

Joint venture between Nissan and Mitsubishi Motors marks 10 years

อังคาร มิ.ย. 1 , 2021
TOKYO, Jun 1, 2021 – (JCN Newswire via SEAPRWire.com) – The joint venture between Nissan Motor Co., Ltd. and Mitsubishi Motors Corporation, NMKV Co., Ltd., has marked ten years since its founding. Nissan and Mitsubishi Motors established NMKV on June 1, 2011 as a 50/50 joint venture enga […]