ครอบครัวเด็กหญิงวัย 7 ปี เผยต้องซ่อนตัว หวั่นตกเป็นเป้าเจ้าหน้าที่

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา ระบุว่า 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากเหตุประท้วงถูกยิงที่ศีรษะ ด้านครอบครัวของเด็กหญิง วัย 7 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในบ้านพัก ต้องหนีไปหลบซ่อนตัวเนื่องจากกลัวถูกจับกุม

วันนี้ (26 มี.ค.2564) กล้องวงจรปิดบริเวณด้านหน้าที่ทำการพรรคเอ็นแอลดีในย่างกุ้ง บันทึกภาพเหตุการณ์ที่ชายต้องสงสัย ขว้างระเบิดเพลิงเข้าไปภายในที่ทำการพรรคหลายครั้ง ก่อนที่จะเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา

เหตุโจมตีดังกล่าวส่งผลให้ตัวอาคารและเฟอร์นิเจอร์ส่วนหนึ่งได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยเบื้องต้นยังไม่ทราบว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร

ขณะที่กลุ่มต่อต้านรัฐประหารหลายสิบคนร่วมเดินขบวนไปตามท้องถนนใกล้กับเจดีย์ซูเลและประกาศจุดยืนเดินหน้าต่อสู้ไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ

หนึ่งในแกนนำการประท้วงใช้พื้นที่บนสื่อสังคมออนไลน์ เชิญชวนให้ชาวเมียนมาออกมาร่วมการประท้วงใหญ่ในวันกองทัพเมียนมาวันพรุ่งนี้ (27 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันรำลึกการที่กองทัพลุกขึ้นมาต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น เมื่อปี 1945


ครอบครัวเด็กหญิงวัย 7 ปี หลบซ่อนตัวหนีทหาร

ส่วนสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานบทสัมภาษณ์พี่สาวของเด็กหญิง วัย 7 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตในบ้านพักที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่า ครอบครัวของเด็กหญิงกำลังอยู่ในระหว่างการหลบซ่อนตัวและไม่กล้ากลับบ้าน เนื่องจากกลัวจะตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่ หลังจากพี่ชายของเด็กคนนี้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไปแล้ว

นอกจากนี้ทางครอบครัวยังกังวลด้วยว่ากองทัพจะพยายามยึดร่างของน้องสาวไป หลังจากเคยมีกรณีเจ้าหน้าที่ขุดร่างของผู้เสียชีวิตคนอื่น ๆ ขึ้นมาก่อนหน้านี้

โดยครอบครัวของผู้เสียชีวิตบางครอบครัวเชื่อว่ากองทัพต้องการปกปิดความผิดและทำลายหลักฐาน ขณะที่แพทย์ในพื้นที่ ระบุว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต้องพยายามซ่อนศพของผู้ประท้วงให้ปลอดภัยจากทหารเพื่อรอญาติมารับ


1 ใน 4 ของผู้ประท้วงที่เสียชีวิตถูกยิงศีรษะ

ขณะที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา ระบุว่าชาวเมียนมากำลังเผชิญกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติรายวัน และล่าสุดมีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 320 คน นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มากกว่า 1 ใน 3

นอกจากนี้ข้อมูลที่ทางกลุ่มรวบรวมยังชี้ว่าผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 90 ถูกยิงเสียชีวิต และอย่างน้อย 1 ใน 4 ของทั้งหมด เสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะ

ประเด็นนี้ทำให้การตั้งข้อสังเกตที่ระบุว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการจงใจสังหารเป้าหมายมีน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแอมเนสตี อินเทอร์เนชันแนล ที่ระบุว่า กองทัพใช้ยุทธวิธียิงสังหารเพื่อต้องการให้ผู้ชุมนุมหวาดกลัวและยุติการประท้วงลงในที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทหารเมียนมายิงเด็ก 7 ขวบ ในเมืองมัณฑะเลย์เสียชีวิต

 

 

 

Next Post

หลักฐานใหม่ ปอท.ตามสืบ "วันเฉลิม" ที่พนมเปญ ปี 61

เสาร์ มี.ค. 27 , 2021
เกือบ 10 เดือนแล้ว ที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้า นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ต้องหาตามหมายจับ หายตัวไปจากประเทศกัมพูชา พี่สาวของนายวันเฉลิมยังพยายามตามหาเขาอยู่ จนกระทั่งล่าสุดได้เอกสารสำคัญที่มีนัยสำคัญต่อเรื่องนี้ วันนี้ (26 มี.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารบันทึกข้อความ ลงวันที […]