ครม.ใช้ยาแรง ขรก.ผิดชู้สาว-คุกคามทางเพศโทษ “ออกจากราชการ”

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่ ก.พ.เสนอเอาผิดข้าราชการ ที่มีหลักฐานเพียงพอว่าทำผิดกรณีชู้สาว ล่วงละเมิด-คุกคามทางเพศ โดยออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

วันนี้ (16 มี.ค.2564) น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการทางการบริหารเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรม เพื่อให้การดำเนินการทางวินัย และจริยธรรมข้าราชการฝ่ายพล เรือนในการนำมาตรการทางบริหารมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางวินัยมีมาตรฐานเดียวกัน และลดความลักลั่นในการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง ก.พ.ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา

ทัั้งนี้ ก.พ.ได้หยิบยกประเด็นที่สื่อมวลชนเสนอข่าวเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมของข้าราชการในเรื่องชู้สาว การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศ รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในการกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศดังกล่าว ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยและจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยมีข้อสังเกตว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการทางวินัยโดยรวดเร็ว โดยก.พ.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 (1) ประกอบมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีมติ ดังนี้

ให้สำนักงาน ก.พ. เสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลประเภทต่าง ๆ นำมาตรการทางการบริหารที่เกี่ยวข้องกับวินัยและจริยธรรมร้ายแรงของแต่ละองค์กรกลางบริหารงานบุคคล เช่น การสั่งพักราชการหรือการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน การสั่งให้ประจำส่วนราชการ การสั่งสำรองราชการ หรือการสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีอยู่มาใช้ในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมชู้สาวหรือล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศดังกล่าว  

เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หากพบข้าราชการกระทำผิดวินัยและจริยธรรมร้ายแรง โดยมีหลักฐานชั้นต้นเพียงพอ ก็ควรให้ออกจากราชการไว้ก่อน

สำหรับเหตุผล ทางก.พ.เห็นว่า มาตรฐานการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมของข้าราชการประเภทต่างๆ มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของการนำมาตรการทางการบริหารมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางวินัยตลอดจนมาตรฐานการลงโทษที่ลักลั่นกัน ซึ่งทำให้การดำเนินการขาดประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการดำเนินการทางวินัยให้ยุติธรรม เป็นธรรม รวดเร็ว

 

Next Post

ชาวย่างกุ้งอพยพจากพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก

พุธ มี.ค. 17 , 2021
ทางการเมียนมาตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือวันที่ 2 ขณะที่ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในย่างกุ้งบางส่วนทยอยเดินทางออกจากพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว วันนี้ (16 มี.ค.2564) บรรยากาศบริเวณพื้นที่ที่อยู่ติดกับเขตไลง์ ตายา ของย่างกุ้งในวันนี้เงียบสงบ หลังจากผู้ประท้วงได้นำสิ่งของมาวาง ปิดถนน […]