ข่าวดี! นักวิจัย สวทช.สังเคราะห์สารตั้งต้น “ยาฟาวิพิราเวียร์”

นักวิจัยสวทช. สังเคราะห์สารตั้งต้น ยา”ฟาวิพิราเวียร์” สำเร็จทดแทนวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ใช้เป็นยาต้านโรค COVID-19 อภ. เตรียมศึกษาความเป็นไปได้กับ ปตท. สร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยา พร้อมเตรียมจดสิทธิบัตร

วันนี้ (3 มี.ค.2564) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการแถลงข่าวความร่วมมือเพื่อสร้างความสามารถในการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมของประเทศ:ยาต้านไวรัส “Favipiravir” โดยมีดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า ยินดีและมีความสุขมากที่ได้มาร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือในการพัฒนาวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา หรือ API สำหรับใช้เป็นสารตั้งต้นในการการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อใช้ต้านไวรัส ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งภายใต้แผนยุทธศาสตร์ COVID-19 ขณะนี้ไทย ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน 2 ชนิด จาก 7 ชนิด และวัคซีนอีก 5 ชนิด กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา ซึ่งแต่การผลิตวัคซีนโดยคนไทยต่างหากที่เป็นเป้าหมายของ อว.

ภาพ:สวทช.

ภาพ:สวทช.

สังเคราะห์สารตั้งต้น “ยาฟาวิพิราเวียร์”

ดร.ณรงค์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการผลิตยาของไทยยังคงอยู่ระดับปลายน้ำ ต้องนำเข้าสาร API ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยารักษาโรคต่างๆ จากต่างประเทศมากถึง 95% ดังนั้นหากสามารถสังเคราะห์ API ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาตำรับยาได้สำเร็จ จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมของไทยให้ผลิตยาได้ครบวงจรด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทำให้พึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและการแพทย์ให้กับประชาชนได้

ผอ.สวทช.กล่าวว่า หลังการระบาดของ COVID-19 มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก ทำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นที่ต้องการอย่างมาก ประเทศผู้ผลิตต้องเก็บไว้รักษาประชากรของตนเอง ทำให้ยาขาดตลาด การสั่งซื้อทำได้ยากและมีจำนวนจำกัด จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ สวทช.ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เดินหน้าวิจัยพัฒนากระบวนการผลิต API ในระดับห้องปฏิบัติการกระทั่งประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสูตรตำรับยาที่ อภ.ดำเนินการอยู่ เพื่อใช้ในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับต้านโรค COVID-19

กระบวนการสังเคราะห์ API แม้ทีมวิจัยจะเลือกแนวทางการผลิตที่ดีที่สุดจากหลายแนวทางการผลิตที่มีอยู่ แต่ก็ยังเป็นวิธีที่ต้องใช้สารตั้งต้นที่มีราคาแพง ทำให้ทีมวิจัยเร่งศึกษาวิจัยต่อยอด พัฒนากระบวนการสังเคราะห์จากเดิม 6 ขั้นตอน เป็น 9 ขั้นตอน ถึงแม้จะมีขั้นตอนที่มากขึ้นแต่เป็นวิธีที่สามารถใช้วัตถุดิบราคาถูก หาได้ง่าย และพึ่งพาตนเองได้

สารสังเคราะห์ตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์ มีคุณภาพดีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นทดแทน API ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพ:สวทช.

ภาพ:สวทช.

เตรียมยื่นจดสิทธิบัตร

สำหรับในขั้นองค์การเภสัชกรรมจะขยายการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Scale) ร่วมกับทีมนักวิจัย ไบโอเทค สวทช. และจะมีการต่อยอดขยายผลไปสู่อุตสาหกรรม API โดยมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมศึกษาความเป็นไปได้เพื่อขยายผลสู่ขั้นตอนการผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับอุตสาหกรรมยา สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ตั้งเป้าสร้างศักยภาพการผลิตยาในประเทศ

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้สวทช.ดำเนินการในระดับห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว ได้กระบวนการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นตัวใหม่ ที่มีราคาถูกกว่าสารตั้งต้นที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้อยู่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

ภาพ:สวทช.

ภาพ:สวทช.

 

Next Post

"ถาวร" ไม่ปฏิเสธมีชื่อ "สาทิตย์" เป็นแคนดิเดต รมช.คมนาคม

พฤหัส มี.ค. 4 , 2021
“ถาวร” ไม่ฟันธงตำแหน่ง รมช.คมนาคม เป็นโควตา ปชป. แต่ไม่ปฏิเสธมีชื่อ “สาทิตย์” ขึ้นเป็น รมช.คมนาคม แทน วันนี้ (3 มี.ค. 2564) นายถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คมนาคม กล่าวถึงการปรับ ครม. ว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าตำแหน่ง รมช.คมนาคม ยังเป็นโควตาของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ แต่เมื่อผู้สื่ […]