5 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโลกในปี 2022

ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทและพัฒนาขึ้น วีโอเอรวบรวม 5 เทคโนโลยี AI ที่น่าสนใจในปี 2022 นี้มาฝากกัน

วุ้นแปลภาษาแบบเรียลไทม์

เมตา แพลตฟอร์มส บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่าได้พัฒนาเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อแปลภาษาพูดแบบเรียลไทม์ ด้วยเทคโนโลยี AI โดยตัวแรกเริ่มเป็นการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาฮกเอี้ยน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำกับเจ้าของภาษาอยู่ และเมตา ตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีนี้ในการสร้างระบบแปลภาษาพูดแบบเรียลไทม์กับภาษาอื่น ๆ ในอนาคต

ตรวจจับ ‘พาร์กินสัน’ ผ่านการนอนหลับ

ระบบตรวจจับพาร์กินสันด้วย AI จะจับรูปแบบการหายใจระหว่างการนอนหลับของผู้ป่วย ซึ่งช่วยวัดระดับความรุนแรงของโรคและบันทึกข้อมูลว่าอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่อย่างไร

นักวิจัยพบว่า สัญญาณเริ่มต้นของพาร์กินสัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นพบกันได้ หลายสัญาณบ่งชี้หรืออาการ อาจเกิดขึ้นไม่กี่ปีก่อนที่โรคนี้จะคืบคลานเข้ามาอย่างเต็มตัว

แต่ทีมวิจัย ระบุว่า การทดลองใช้ AI เข้ามาช่วย เพียงการตรวจสอบการนอนหลับเพียง 1 คืน สามารถระบุภาวะพาร์กินสันได้แม่นยำราว 86% และความแม่นยำจะเพิ่มขึ้นเป็น 95% หากนำไปใช้ตรวจสอบอาการผ่านการนอนหลับ 12 คืน

เครื่องช่วยแปลอารมณ์ ‘หมู’

นักวิจัย ประกาศว่าได้สร้างเทคโนโลยีที่แปลอารมณ์หมูผ่านเสียงของมัน โดยใช้ฐานข้อมูลเสียงหมูกว่า 7,000 เสียง ที่บันทึกได้ตลอดช่วงชีวิตของหมู 400 ตัว และใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการระบุอารมณ์ของสัตว์ในตอนนั้น ซึ่งให้ความแม่นยำ 92%

ทีมนักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยให้เกษตรกรพัฒนาผลิตผลด้านปศุสัตว์และคุณภาพชีวิตของสัตว์ได้ในอนาคต

ระบบระบุ-ทำนายกลิ่น

นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน พัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เพื่อช่วยจำแนกและสร้างกลิ่นต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ โดยเครื่องมือนี้ได้รับการพัฒนาและทดสอบโดยนักวิจัยของกูเกิล (Google) รวมทั้ง มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และศูนย์ Monell Chemical Senses Center แล้ว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลจากการวิจัยในอดีตมาผลิตแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้าง “แผนที่” เพื่อจำแนกโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับกลิ่น โดยโครงข่ายประสาทเทียมเป็นระบบประมวลผลคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่เสมือนสมองของมนุษย์นั่นเอง

นักวิจัยเชื่อว่าสิ่งนี้สามารถปรับใช้ในด้านสาธารณสุข อาหาร น้ำหอม รวมทั้งการพัฒนายากันยุงที่มีราคาถูกขึ้น ใช้งานได้ยาวนานขึ้น และปลอดภัยกว่ายากันยุงที่มีสาร DEET เป็นส่วนประกอบ และยากันยุงดังกล่าวยังอาจนำไปใช้ “เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคต่าง ๆ ในอนาคต

เครื่องช่วยเติมคำ (โบราณ) ในจารึก

คณะนักวิจัยทำงานร่วมกับ DeepMind บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ของ Alphabet ในการพัฒนาเครื่องมือที่มีชื่อว่า Ithaca ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่าระบบนี้เป็น “โครงข่ายประสาทเทียมระดับลึกเครือข่ายแรกที่สามารถกู้คืนข้อความที่หายไปของจารึกที่ได้รับความเสียหายได้” เพื่อช่วยนักประวัติศาสตร์ในการซ่อมแซมงานจารึก รวมทั้งสามารถระบุเวลาและสถานที่ที่ข้อความเหล่านั้นถูกจารึกไว้ด้วย

ในการทดลองกับจารึกโบราณที่ได้รับความเสียหายนั้น นักวิจัยรายงานว่า Ithaca สามารถทำนายองค์ประกอบของจารึกที่ขาดหายไปได้อย่างถูกต้องถึง 62 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังสามารถระบุที่มาของจารึกต่างๆ ได้ถูกต้องถึง 71 เปอร์เซ็นต์ และยังสามารถระบุวันเวลาที่จารึกไว้ได้อย่างแม่นยำภายในกรอบระยะเวลา 30 ปีอีกด้วย

ปกติแล้วนักประวัติศาสตร์ทำงานเพียงลำพัง อัตราความสำเร็จในการซ่อมแซมจารึกที่เสียหายจะอยู่ที่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อนักประวัติศาสตร์ได้ทำงานร่วมกับ Ithaca อัตราความสำเร็จเพิ่มขึ้นเป็น 72 เปอร์เซ็นต์

Next Post

เอาแน่! สมาชิกสภาสหรัฐฯ ตั้งเป้าผ่านกฎหมายคุมเข้มโซเชียลมีเดียในปีนี้

จันทร์ ม.ค. 2 , 2023
แฟรนซิส เฮาเกน (Frances Haugen) ผู้เคยออกมาแฉ Facebook เผยว่ากฎหมายของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการควบคุมโซเชียลมีเดียถือว่าล้าหลังและอ่อนแอมาก โดยเสนอให้มีการควบคุมให้มีความโปร่งใสกว่านี้ ทั้งนี้ สำนักข่าว CNBC ชี้ว่าในปี 2022 ที่ผ่านมาสภาครองเกรสพยายามผลักดันกฎหมายควบคุมวงการเทคโนโลยีหลายฉบับ แต่ก็ยังไ […]