เอ็นไอเอเปิดว้าว 2 ดีพเทคสายเกษตรกับการแก้ปม “ทำเกษตรยังไงให้รุ่ง!!!”

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อย่างกว้างขวาง โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรสูงถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ และมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ด้วยมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท แต่ถึงแม้จะส่งออกได้มากจนติดอันดับโลก เกษตรกรไทยกลับยังประสบปัญหาด้านรายได้

เนื่องจากประสิทธิภาพการทำเกษตรต่ำสวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูง อีกทั้งยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่เหล่าสตาร์ทอัพด้านการเกษตรจะต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับและสร้างคุณค่าใหม่ให้กับภาคเกษตรไทย และหากถามถึงเทคโนโลยีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเกษตรไทยได้แบบก้าวกระโดด นาทีนี้คงหนีไม่พ้น “ดีพเทค” หรือเทคโนโลยีเชิงลึก

วันนี้ “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA” จึงขอพาไปเรียนรู้การทำเกษตรด้วยดีพเทคจาก 2 สตาร์ทอัพคนเก่ง ซึ่งไม่เพียงแต่เติบโตได้ในประเทศไทย แต่ยังพร้อมสยายปีกไปสู่ตลาดโกลบอลอีกด้วย

UniFAHS โซลูชันควบคุมแบคทีเรียก่อโรคในสัตว์ รายแรกของอาเซียน และผู้ชนะเลิศจากเวทีโลก

แม้ที่ผ่านมาเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์จะมีการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังพบสารตกค้างในเนื้อสัตว์ที่บริโภคกันอยู่มากกว่า 80% เนื่องจากมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียตั้งแต่ในฟาร์มเลี้ยง ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยา ทำให้ภาคธุรกิจจำหน่ายสินค้าไม่ได้ ผู้บริโภคเกิดผลเสียต่อสุขภาพ คิดเป็นมูลค่ากว่า 470 ล้านล้านบาท “ทีม UniFAHS” มีโซลูชั่นที่ต้องการให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยจากการบริโภคเนื้อสัตว์ และช่วยปกป้องภาคธุรกิจไม่ให้เกิดความเสียหายจากการผลิตสินค้าที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย จึงคิดค้นสารเสริมชีวภาพจากแบคเทอริโอเฟจ (Bacteriophage biotechnology) ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “SalmoGuard” ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่าในลำไส้และระบบทางเดินอาหารของสัตว์ปีก เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมี

คุณชลิตา วงศ์ภักดี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ยูนิฟาร์ส จำกัด กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่มีความเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพสูงในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดความเสี่ยงการเกิดโรคท้องร่วงในห่วงโซ่อุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกแบบครบวงจร รวมทั้งกำลังพัฒนาเพื่อขยายไปสู่การป้องกันโรคติดเชื้อชนิดอื่น เช่น โรคบิด รวมทั้งในกลุ่มสัตว์น้ำด้วย นับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่ผ่านงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้เกิดการประยุกต์ใช้งานจนสามารถนำมาแก้ปัญหาด้านการเกษตรให้เกิดความแม่นยำ ทำให้สามารถคว้ารางวัล The Best Performance Inno4Famers 2022 Award จากการตัดสินของคณะกรรมการ และรางวัล The Popular Inno4Famers 2022 Award ที่ตัดสินจากผลการโหวตของผู้เข้าร่วมงานมาครองได้อย่างง่ายดาย

“ความเชี่ยวชาญในการคิดค้น “PHAGE TECHNOLOGY” มากกว่า 15 ปี ทำให้ทีม UniFAHS เป็นบริษัทแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถออกแบบเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกได้เหมาะสมกับตลาดและผู้ใช้งานทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับรางวัลชนะเลิศด้านนวัตกรรมไบโอเทคจากเวทีการแข่งขันสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Global Finalists 2022” จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างธุรกิจให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนในปี 2024 ทั้งนี้ ต้องขอบคุณ NIA ที่ให้โอกาสทีม UniFAHS เข้าร่วมโครงการ Inno4Farmers ซึ่งนำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายกับนักลงทุน ทั้งบริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้พิจารณาร่วมลงทุนกับ UniFAHS จนสร้างมูลค่าตลาดในปี คศ. 2027 มากกว่า 9 หมื่นล้านบาท”

Maxflow ระบบปรับโมเลกุลน้ำด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า ลดการใช้ปุ๋ยในภาคการเกษตร

คุณกฤษ แสงวิเชียร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไอโฟลว์เทค จำกัด เล่าว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินแดนแห่งการเพาะปลูกพืชและทำเกษตรกรรม พืชเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถสร้างอาหารได้เองด้วยการนำแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำ อากาศ และดิน มาผ่านกระบวนการสังเคราะห์และนำไปรวมกับแร่ธาตุชนิดอื่นที่ดูดขึ้นมาจากดิน เพื่อสร้างเป็นแป้ง โปรตีน ไขมัน เอนไซม์ รวมถึงฮอร์โมนสำหรับใช้ในการเจริญเติบโต แต่เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาสภาวะสงครามที่ทำให้ราคาของปุ๋ย สารเคมี ค่าไฟ ค่าแรง และค่าเพาะเมล็ดพันธุ์ปรับสูงขึ้น บริษัท
ไอโฟลว์เทค จำกัด จึงคิดค้นและผลิต “MaxFlow เครื่องปรับโมเลกุลน้ำด้วยแม่เหล็ก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้การหมุนวนของน้ำภายในท่อและการจัดเรียงแท่งแม่เหล็กด้วยเทคนิคแบบฮอลแบ็ค ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กอย่างถาวร ซึ่งเมื่อน้ำผ่านอุปกรณ์จะถูกปรับสภาพให้มีอนุภาคเล็กลง มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีเหมาะแก่การเพาะปลูก สลายแคลเซียมและแมกนีเซียมในน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าและสารเคมี ทำให้พืชสามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นถึงร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำที่ไม่ผ่านเครื่อง นอกจากนี้ ยังสามารลดการใช้น้ำ ใช้ปุ๋ยลง และเมล็ดพันธุ์แข็งแรงขึ้นร้อยละ 94 พร้อมทั้งเพิ่มคุณค่าอาหารในพืชอีกด้วย สำหรับอุตสาหกรรมสีเขียวช่วยละลายแคลเซียม แมกนีเซียม หินปูน สนิม สิ่งสกปรกในท่อน้ำและอุปกรณ์ที่อยู่ในน้ำกระด้างให้เปลี่ยนเป็นน้ำนุ่มได้ถึง 80% เหมาะสมต่อการดูดซึมของพืช

“NIA ช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยอย่างเราให้เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรที่ได้เข้าร่วมแสดงผลงานในโครงการ Inno4Famers 2022 จนเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายกับนักลงทุน ทั้งบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (FIT) และบริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด โดยทีม MaxFlow นำเครื่องปรับโมเลกุลน้ำด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าไปใช้กับการเพาะปลูกทั้งแปลงข้าวโพดและเมล่อน ซึ่งผลผลิตที่ได้จากถาด Maxflow จะมีความสมบูรณ์กว่าถาดที่รดน้ำปกติมากกว่าร้อยละ 94 โตเร็วกว่า ปริมาณเยอะกว่า และสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่า ถือเป็นการเปลี่ยนระบบการเพาะปลูกในยุควิกฤตการสภาพภูมิอากาศ (climate breakdown) ที่เราต้องเร่งการปลูกและเก็บเกี่ยวให้เร็วขึ้น โดยใช้สารเคมีน้อยลงเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ส่วนเกษตรกรสามารถซื้อ MaxFlow ไปเสียบใช้ได้เอง เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์และการเติบโตของเมล็ดพันธุ์พืชและต้นกล้า”

NIA เร่งปั้นดีพเทคสตาร์ทอัพ ต้อนรับตลาดเกษตรบูมอีกครั้ง

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA เล่าว่า เทคโนโลยีด้านการเกษตร หรือ AgTech เป็นหนึ่งในสาขาที่มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากปัจจุบันตลาดของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 234 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และหากมองเจาะลึกลงไปในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรระดับโลกจะเห็นว่าเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเชิงลึกมาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) หุ่นยนต์ (Robot) และบล็อกเชน (Blockchain) ที่สามารถนำมาพัฒนากระบวนการเกษตรได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลสตาร์ทอัพของ NIA พบว่าสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของไทยมี 59 ราย เป็นสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกไม่ถึง 15 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทั้งที่การเกษตรเป็นโจทย์ที่ท้าทายบนพื้นฐานความถนัดของประเทศไทยมากที่สุด ดังนั้น การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันระบบนิเวศสตาร์ทอัพการเกษตรที่เอื้อต่อการเติบโต ผ่านการเชื่อมโยงและประสานให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งนักวิจัย หน่วยงานวิจัย หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน ผ่านกิจกรรมการบ่มเพาะ เร่งสร้างสตาร์ทอัพเกษตรและขยายการใช้งานเทคโนโลยี จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการเข้าร่วมลงทุนเพื่อขยายธุรกิจของสตาร์ทอัพเกษตรให้เติบโตทั้งในและต่างประเทศ

“NIA พยายามเร่งผลักดันสตาร์ทอัพเกษตรให้สามารถนำเทคโนโลยีเชิงลึกจากงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มจากพัฒนาทักษะและความรู้ในการสร้างนวัตกรรมการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AgTech AI สำหรับเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสตาร์ทอัพเกษตรรายใหม่ที่นำแนวคิดมาสร้างสรรค์กับเทคโนโลยี AI ให้เกิดเป็นรูปแบบธุรกิจ พร้อมด้วยโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Inno4Farmers ในการต่อยอดเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจ พร้อมโอกาสการทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียนรู้และเข้าใจโจทย์ของภาคการเกษตรได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถนำไปต่อยอดความร่วมมือสู่การขยายธุรกิจได้จริง โดยจะส่งผลให้มีสตาร์ทอัพเกษตรในระบบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย”

Next Post

Yoga's Kashmir Connection: Time for Revitalisation

พฤหัส ธ.ค. 29 , 2022
SINGAPORE, Dec 29, 2022 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – The social tapestry of the valley of Kashmir is vibrant, diverse and layered. From the relics of its Buddhist past to its long history of association with Vedic practices, Kashmir is truly as multifaceted as it can get. Apart f […]