เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นและน่าจับตาในปี 2022

เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะผ่านพ้นปี 2021 เข้าสู่ปี 2022 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย จนอาจทำให้รู้สึกได้ว่าเวลา 1 ปีนี่ก็ผ่านไปไวเหมือนกัน เพราะหลายคนยังจำภาพช่วงเวลาสิ้นปีของเมื่อปีก่อนหน้านี้ได้อยู่เลยด้วยซ้ำไป เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ไม่ใช่เพียงแค่เวลาเท่านั้นที่เดินเร็วจนเรารู้สึกตามไม่ทัน เทคโนโลยีต่าง ๆ บนโลกใบนี้ก็วิวัฒนาการไปเร็วมากเช่นกัน หลายสิ่งหลายอย่างเราอาจได้ใช้งานกันอยู่ทุกวัน ทั้งที่ไม่รู้ตัวว่าใช้งานมันอยู่ และก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรด้วย นี่คือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่รอบตัวเราตลอดเวลาเพียงแต่เราไม่รู้ตัว

ในปี 2022 ที่กำลังจะมาถึง การ์ทเนอร์ (Gartner) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์ถึง 12 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรมในปี 2022

โดยการ์ทเนอร์คาดว่าแนวโน้มเทคโนโลยีทั้ง 12 นี้จะมีผลต่อการเพิ่มจำนวนธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรมไปอีกราว ๆ 3-5 ข้างหน้า การทราบเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็เพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ มันยังเป็นแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนโลกยุคดิจิทัลอย่างเช่นทุกวันนี้ด้วย อย่างที่บอกว่าจริง ๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้มันอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว

Tonkit360 ขอสรุป 12 เทรนด์เทคโนโลยีในปี 2022 ที่น่าจับตาและศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และนวัตกรรมในปีหน้า คร่าว ๆ ดังนี้

ภาพจาก Gartner เทรนด์ที่ 1 Data Fabric

คือ เทคโนโลยีการจัดการข้อมูลบนโลกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและกระจัดกระจาย ให้มารวมเป็นผืนเดียวกัน ทำให้ข้อมูลพร้อมใช้งานได้ทุกที่ที่ต้องการ เนื่องจากโลกยุคดิจิทัลเป็นโลกที่มีข้อมูลมหาศาล และข้อมูลก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่รู้จบ ใช้การวิเคราะห์เรียนรู้และแนะนำได้ว่า ควรนำข้อมูลไปใช้หรือเปลี่ยนที่ไหน ซึ่งจะช่วยลดภาระและกระบวนการในการจัดการข้อมูลลงได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

เทรนด์ที่ 2 Cybersecurity Mesh

โครงข่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับในเรื่องของความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจไม่สามารถใช้การรักษาความปลอดภัยในรูปแบบเดิม ๆ ได้อีกต่อไป เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังมาแรงในยุคนี้ เทคโนโลยีนี้จะช่วยรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลในทุกที่ มีระบบให้ผู้ใช้ระบุตัวตน ตรวจสอบข้อมูล รวมถึงบริบทในการเข้าถึงข้อมูล สามารถตรวจสอบข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกคลาวด์ได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือ

เทรนด์ที่ 3 Privacy-Enhancing Computation

เทคโนโลยีที่ช่วยรักษาความปลอดภัยในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน เมื่ออยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากมีข้อกฎหมายความเป็นส่วนตัวของบุคคลและการปกป้องข้อมูลระหว่างประเทศมากขึ้น ในกลุ่มผู้ใช้งานเองก็มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน จะใช้เทคนิคการปกป้องความเป็นส่วนตัวหลากหลายรูปแบบที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัว

เทรนด์ที่ 4 Cloud-Native Platforms

แพลตฟอร์มบนเทคโนโลยีคลาวด์ เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับการประมวลผลบนคลาวด์ ที่ยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลที่มากขึ้นและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มความสามารถของระบบไอทีให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว ปรับปรุงวิธีการโอนย้ายข้อมูลไปสู่ระบบคลาวด์ ที่แบบเดิมมีจุดอ่อน การพัฒนาระบบขึ้นสู่คลาวด์ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่และลดความยุ่งยากในการดูแลรักษา

เทรนด์ที่ 5 Composable Applications

แอปพลิเคชันประกอบที่สามารถแยกส่วนและนำมาประกอบใหม่ เป็นการสร้างองค์ประกอบทางเทคโนโลยีโดยอิงจากโมดูลของธุรกิจเป็นหลัก ทำให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นนั้นง่ายต่อการใช้และสามารถนำโค้ดกลับมาประกอบเพื่อใช้ใหม่ได้ รองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยประโยชน์ในการเร่งให้บริการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น และนำไปสู่การสร้างมูลค่า คุณค่าให้กับองค์กร ตามบริบทของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

เทรนด์ที่ 6 Decision Intelligence

การตัดสินใจ เป็นกระบวนการเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้องค์กรได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจขององค์กร มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยอาศัยการจำลองการตัดสินใจแต่ละครั้งเป็นชุดกระบวนการ ด้วยข้อมูลอัจฉริยะและการวิเคราะห์เพื่อให้ข้อมูลเหมาะสมที่สุด อีกทั้งทำให้เป็นกระบวนการอัตโนมัติด้วยการใช้การวิเคราะห์ การจำลอง และ AI เข้ามาช่วยในการสร้างแพลตฟอร์มนี้

เทรนด์ที่ 7 Hyperautomation

ระบบอัตโนมัติขั้นสูง โดยเป็นแนวทางที่มีระเบียบในการขับเคลื่อนธุรกิจแบบอัตโนมัติให้ได้มากที่สุด มีระบบระเบียบ เพื่อช่วยเร่งเครื่องให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น ด้วยความสามารถในการแปลผลลัพธ์ เร่งกระบวนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบอย่างรวดเร็ว และช่วยให้ตัดสินใจเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้ AI ในการทำงาน รองรับการปรับขนาด การดำเนินการจากระยะไกล และการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่

เทรนด์ที่ 8 AI Engineering

กระบวนการพัฒนา AI จะยังทำให้ AI ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยที่ต่อจากนี้องค์กรต่าง ๆ จะพยายามนำ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงานต่าง ๆ และการสร้างมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้น โดยจะเป็นแนวทางแบบบูรณาการสำหรับการดำเนินงานโมเดล AI ในรูปแบบต่าง ๆ อัปเดตข้อมูลโมเดล และแอปพลิเคชันอัตโนมัติ เพื่อปรับปรุงการทำงานของ AI ให้ทำงานได้อย่างคล่องตัวขึ้น จนสามารถนำปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทรนด์ที่ 9 Distributed Enterprises

เพราะการทำงานต่อจากนี้จะไม่ได้จำกัดอยู่ในออฟฟิศอีกต่อไป องค์กรที่เคยทำงานในออฟฟิศก็จะปรับตัวไปสู่องค์กรแบบกระจาย จึงเป็นเทคโนโลยีที่เน้นดิจิทัลและการทำงานระยะไกลเป็นอันดับแรก สำหรับเสริมประสบการณ์ของพนักงาน และยังใช้สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและและคู่ค้าที่อยู่ไกลกันให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้ด้วยเช่นกัน ช่วยสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ตอบสนองความต้องการของพนักงานและผู้บริโภคที่อยู่ไกลกัน

เทรนด์ที่ 10 Total Experience

ผสมผสานประสบการณ์จากคนหลาย ๆ กลุ่มเข้าด้วยกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ นี่จึงเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่รวมเอาประสบการณ์ของพนักงาน ประสบการณ์ลูกค้า ประสบการณ์ผู้ใช้ และประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจ ความพึงพอใจ ความภักดี และการสนับสนุนมากขึ้นจากลูกค้าและพนักงานที่พึงพอใจกับประสบการณ์ที่ได้รับการยกระดับ ผ่านการจัดการประสบการณ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแบบองค์รวม

เทรนด์ที่ 11 Autonomic Systems

ระบบการทำงานที่ปรับตัวให้เข้ากับความไม่แน่นอน จะมีความพยายามในการคิดค้นและปรับใช้ระบบที่เรียนรู้จากสภาพแวดล้อม สามารถปรับเปลี่ยนอัลกอริธึมของตนเองได้แบบไดนามิกได้แบบเรียลไทม์ เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมกับระบบนิเวศที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เป็นระบบอัตโนมัติที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีที่คล่องตัว จึงรองรับความต้องการและสถานการณ์ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และป้องกันการโจมตีโดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์

เทรนด์ที่ 12 Generative AI

อย่างที่เราทราบว่า AI เป็นรูปแบบเทคโนโลยีที่ทำงานโดยการเรียนรู้ ประมวลผล แล้วจดจำเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในอนาคต จึงมักนำมาใช้ในงานที่มีการทำงานแบบซ้ำ ๆ แต่ต่อจากนี้ AI จะพัฒนาเป็นการเรียนรู้จากข้อมูล แล้วสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาที่ที่คล้ายคลึงกับต้นแบบแต่ไม่ทำซ้ำ มีศักยภาพในการสร้างเนื้อหาสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ จึงอาจนำมาช่วยในการวิจัยและพัฒนาในวงการต่าง ๆ เพื่อร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น

Next Post

Entering the Commercial Property Management Subdivision Sector, Shimao Services Acquires Commercial Property Management Services-related Businesses

จันทร์ ธ.ค. 13 , 2021
HONG KONG, Dec 13, 2021 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – Shimao Services Holdings Limited (“Shimao Services” or the “Company”; HKEX Stock Code: 873.HK) announced that the Company has conditionally agreed to acquire the property management services business and […]