สัญญาณถึงเวลาขาลงเฟซบุ๊ก คนรุ่นใหม่กำลังจะเลิกใช้จริงหรือ?

เป็นเวลากว่า 18 ปีแล้ว ที่ Facebook ก่อตั้งขึ้นมา พร้อมกับความพยายามที่จะประกาศตัวเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเจ้าแรก ๆ ในเวลานั้น ความสำเร็จที่เป็นที่ประจักษ์ของ Facebook คือการเป็นบริษัทโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ และผู้นำด้านเทคโนโลยีเบอร์ต้น ๆ ของโลก จนในเวลาต่อมามีการเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่เป็น Meta บริหาร 3 แพลตฟอร์มสำคัญในตลาดโซเชียลมีเดีย คือ Facebook, Instagram และ WhatsApp นั่นเอง

ตั้งแต่ที่เราได้รู้จักกับ Facebook จะพบว่าบริษัทนี้มีแต่คำว่าเติบโตมาโดยตลอด จนถึงขั้นที่ทำให้มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ซึ่งเป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook กลายเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งของโลก กล้าที่จะคิดการใหญ่อยู่เสมอ กล้าที่จะหยิบนู่นจับนี่มาต่อยอด ล่าสุดก็คือความกล้าที่จะเปลี่ยนพื้นที่โซเชียลมีเดียแบบเดิมให้กลายเป็นอาณาจักรเสมือนจริงที่เรียกว่า Metaverse จนกลายเป็นข่าวใหญ่ของโลกเมื่อช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา

แต่ทุกสิ่งอย่างที่เติบโตจนผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ก็อาจพบกับจุดอิ่มตัวในเวลาต่อมา จากรายงานผลการดำเนินงานล่าสุดของ Meta เราจะเห็นว่า Facebook ที่เคยยิ่งใหญ่มาตลอดก็เจอเรื่องสะดุดเข้าจนได้ หรือนี่จะเป็นสัญญาณว่า Facebook มาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เพราะมันเกิดขึ้นให้เห็นเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี! ในอนาคต ถ้าผลการดำเนินงานยังคงต่ำลงเรื่อย ๆ และไม่ขึ้นมาอีก อีกไม่นาน Facebook อาจจะเข้าสู่ช่วงถดถอยจริงจัง

เมื่อได้เจอเรื่องสะดุดเป็นครั้งแรก อนาคตก็เริ่มไม่มั่นคง

รายการผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 Facebook เจอเข้ากับเรื่องน่าผิดหวัง เนื่องจากสูญเสียผู้ใช้งานทั่วโลกวันละประมาณ 5 แสนบัญชี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉลี่ยแล้วเฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานวันละ 1.93 พันล้านคนต่อวัน แปลให้ง่ายขึ้นก็คือ จำนวนผู้ใช้งาน Facebook ต่อวันลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวแพลตฟอร์ม

แม้ว่าตัวเลข 1.93 พันล้านคนต่อวันที่ใช้งาน Facebook จะยังเป็นตัวเลขที่มหาศาล และตัวเลข 5 แสนคนต่อวันก็เป็นเพียงส่วนน้อยที่ดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 1.93 พันล้าน แต่มันก็เป็นเลขที่ทำให้สถิติการเติบโตของ Facebook ซึ่งไม่เคยหยุดมาก่อนหยุดลงจนได้ เพราะครั้งแรกเกิดขึ้นแล้ว

ผลกระทบเบื้องต้นคือ หุ้น Meta ตกลงมาหลายเปอร์เซ็นต์ มูลค่าทางการตลาดหายไปจำนวนมหาศาล แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ด้วย โดยเรื่องนี้อาจทำให้เขาหลุด Top 10 มหาเศรษฐีโลก จากการจัดอันดับของ Bloomberg Billionaires Index ในไม่ช้านี้

ตัวเลขนี้มีนัยสำคัญต่อ Facebook และ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook ไม่น้อย เพราะความกดดันในแง่ของการเติบโตจะตกไปอยู่กับ Metaverse โปรเจ็กต์ใหญ่ที่ Meta กำลังดำเนินการ ซึ่งไม่เพียงแต่สถานการณ์ที่ Facebook มีผู้ใช้ลดลง เพราะทั้ง Instagram และ WhatsApp ก็เริ่มเติบโตช้าลงแล้ว Metaverse จึงต้องปังเท่านั้น ถึงจะดึงให้ Meta กลับมาโลดแล่นในวงการเทคโนโลยีได้ แต่ก็ยังรับประกันไม่ได้อยู่ดีว่าจะปังมากหรือปังน้อย หรือจะพังแล้วดับไปเงียบ ๆ นี่คือความท้าทายครั้งใหม่และครั้งใหญ่ที่มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์กและ Meta ต้องฝ่าฟัน

อย่างไรก็ดี การที่จำนวนผู้ใช้ Facebook ลดลงก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายอะไร หลายฝ่ายได้ประเมินเหตุการณ์ไว้แล้ว แม้กระทั่ง Facebook เองก็รู้ดี เพราะเทรนด์การใช้งาน Facebook ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ส่อแววลดลงในระยะหลัง คนรุ่นใหม่หันไปใช้ TikTok และ YouTube แทน สำหรับเทรนด์ TikTok นั้น มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ก็ยอมรับเองว่า TikTok นี่คือคู่แข่งรายสำคัญของ Facebook เพราะ TikTok เป็นแอปฯ ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด และสามารถจับตลาดกลุ่มผู้ใช้งานอายุน้อยได้เป็นอย่างดี

อันที่จริง ทาง Facebook ก็มีข้อมูลการวิเคราะห์ของตนเองอยู่ในมือ และพอจะรู้ว่ากลุ่มคนที่หายไปจาก Facebook นั้นเป็นคนกลุ่มวัยรุ่น โดยเมื่อปีที่แล้ว The Verge เปิดเผยสถิติผู้ใช้งาน Facebook ของวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา พบว่าลดลง 13 เปอร์เซ็นต์ มาตั้งแต่ปี 2019 และคาดว่าจะลดลงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า (ซึ่งก็ตรงกับช่วงเวลาปัจจุบัน) ส่งผลให้ผู้ใช้รายวันบนแพลตฟอร์มลดลงอย่างรวดเร็ว

500,000 บัญชีที่หายไป เกิดอะไรขึ้น

คนรุ่นใหม่ไม่ได้หายไปจาก Facebook เฉย ๆ แต่พวกเขายังเปรียบเปรย Facebook แบบแสบ ๆ คัน ๆ ว่ามีสถานะเทียบเท่ากับบ้านพักคนชราอีกต่างหาก พวกเขามองว่าทุกวันนี้ Facebook เป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีอายุมากมากกว่า ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างที่พวกเขาพบเจอ

หลัก ๆ คือ พวกเขามองว่ากลุ่มคนที่มีอายุมักจะใช้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มหลักในการโพสต์เรื่องราวน่าเบื่อ ทัศนคติด้านลบ การเผยแพร่และส่งต่อพวกข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน การสร้างความแตกแยก ความรุนแรงในการใช้คำแสดงความเกลียดชัง เป็นกลุ่มคนที่หัวดื้อ หัวโบราณ ไม่ยอมเปิดรับข้อมูลใหม่หรือเรื่องราวใหม่ ๆ ปิดกั้นตัวเองที่จะไม่รับรู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงการตั้งแง่อคติ ตราหน้าเด็กรุ่นใหม่ ๆ ด้วยตรรกะวิบัติ ความเกลียดชัง การดูถูกเหยียดหยามทั้งที่ไม่รู้จักกัน เป็นพื้นที่ที่ไม่น่าอยู่ พวกเขาจึงพากันหนีไปใช้แพลตฟอร์มอื่น

หรือการที่วัยรุ่นมองว่า Facebook ไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับพวกเขา แต่เป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่ พวกผู้ปกครอง จึงหันไปใช้งานแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่มัน “ปลอดภัยจากผู้ปกครอง” มากกว่าที่จะเล่น Facebook เพราะหลาย ๆ คนก็จำใจต้องกดรับคนในครอบครัว ครูบาอาจารย์ คนในที่ทำงานเดียวกัน หรือคนที่รู้จักกันผิวเผินมาเป็นเพื่อน พวกเขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็น โพสต์ข้อความ หรือรูปภาพได้อย่างสะดวกใจอีกต่อไป การต้องคอยมาตั้งค่าโพสต์ให้เห็นเฉพาะกลุ่มทุกโพสต์ก็เป็นเรื่องที่น่าเบื่อไม่น้อย ต่างจากรูปแบบของ Instagram ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นและเพื่อนรุ่นเดียวกัน ซึ่งผู้ปกครองไม่ค่อยใช้งาน

อีกกรณีคือการที่ต้องยอมรับว่าการที่ Facebook เปิดให้ใคร ๆ ก็ได้เข้าถึงได้ง่าย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องกรองคุณภาพของคน มันทำให้การอยู่ร่วมกันแบบชุมชนออนไลน์มีปัญหา ผู้ใช้เดิมรู้สึกว่าคุณภาพของคนที่เข้ามาร่วมชุมชนนับวันยิ่งต่ำลง มีแต่อะไรก็ไม่รู้ ทำให้ผู้ใช้งานเดิมมองหาโซเชียลมีเดียแหล่งใหม่ที่มีประชากรคุณภาพสูงกว่านี้อยู่ดีกว่า

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ Facebook มีระบบการจัดการข้อมูลผู้ใช้ที่ไม่ค่อยจะดีนัก มีปัญหาเรื่องการตระหนักรู้ในประเด็นสังคมที่สำคัญค่อนข้างน้อย ปล่อยให้มีคอนเทนต์ที่ไร้สาระและเป็นปัญหาอยู่เต็มแพลตฟอร์ม โฆษณาก็เยอะแยะมากกว่าเดิมจนรู้สึกว่านานเกินไปที่จะรอ กดข้ามก็ไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขาไม่น้อย ฉะนั้น การออกห่างจากโซเชียลมีเดียที่ทำให้พวกเขาไม่มีความสุขบ้างก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

นี่ยังไม่ได้รวมถึงความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะช่วงหลัง ๆ มา Facebook มักจะมีนโยบายชุมชนแบบแปลก ๆ เหมือนจะปกป้องผู้ใช้งาน แต่ก็ทำข้อมูลผู้ใช้งานหลุดรั่วอยู่บ่อย ๆ ทำให้ในสายตาคนรุ่นใหม่ ภาพลักษณ์ของ Facebook เป็นลบไปแล้ว การหนีไปใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นกว่านี้อีกสักนิดหน่อย ตอบโจทย์ชีวิตพวกเขาได้ดีกว่า ก็ทำให้พวกเขาพร้อมที่จะปล่อยให้ Facebook กลายเป็นแพลตฟอร์มกลวงเปล่าที่ไร้การเคลื่อนไหวไปเลย

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนรุ่นใหม่หันไปใช้งานแทน Facebook ก็มีตั้งแต่ Snapchat, Twitter, TikTok โดยเฉพาะ TikTok ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและมาแรงแซงทางโค้ง ขนาดที่เอาชนะ Google ขึ้นเป็นโดเมนยอดฮิตในปี 2021 ได้ ส่วน Facebook ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มใช้ติดตามข่าวสาร หรือเพื่อมีปฏิสัมพันธ์แบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมันไม่ดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นอีกต่อไป เพราะหลาย ๆ แพลตฟอร์มสามารถทำได้ดีกว่า ทำให้เวลานี้ บางคนยังคงมี Facebook ไว้ก็เพื่อทำงาน บางคนมีไว้แต่ปล่อยร้างหยากไย่ขึ้น จำรหัสเข้าไม่ได้แล้ว และบางคนก็ปิดทิ้งไปอย่างถาวร

Next Post

Bestinet Issues Letter of Demand to Online News Site

ศุกร์ ก.พ. 11 , 2022
CYBERJAYA, MALAYSIA, Feb 11, 2022 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – A Letter of Demand has been issued on behalf of Bestinet Sdn Bhd (“Bestinet” or the “Company”) and Dato’ Sri Mohd Amin Abdul Nor (“Dato Sri’ Mohd Amin”) to an independen […]