การนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในการเลือกตั้ง

กระแสการเลือกตั้งของไทยครั้งนี้กำลังร้อนฉ่า ทว่าแม้จะผ่านมาแล้วถึง 4 ปี แต่อะไรหลาย ๆ อย่างกลับไม่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งภาพรวมในการเลือกตั้งครั้งก่อนนั้น เรื่องต่าง ๆ ในทางเทคนิคถูกสังคมประเมินไปในทิศทางที่แย่และแทบไม่มีคำชื่นชมสักแอะ ไม่ว่าจะเรื่องภาคสนาม เรื่องการให้ข้อมูล สุดถึงช่วงนับคะแนน และดูเหมือนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คงจะไม่ต่างกันเท่าไรนัก

ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อน มีผู้คนในโลกออนไลน์ไม่มากไม่น้อย ได้พูดถึงการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการเลือกตั้ง เพราะยุคสมัยใหม่ได้ทำให้เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่แล้ว Blockchain ที่เรามักจะคุ้นหูไปในทางของการใช้ประโยชน์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลเสียมากกว่านั้น จะนำมาใช้กับการเลือกตั้งได้อย่างไรได้บ้าง

Blockchain คืออะไร

Blockchain คือระบบเก็บข้อมูลโดยที่ไม่ต้องมีศูนย์กลาง และผู้ใช้ทุกคนสามารเข้าถึงข้อมูลนั้น ๆ ได้ โดยเทคโนโลยีนี้จะมีการสำรองข้อมูลแบบกระจาย ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ยาก พูดง่าย ๆ ก็คือ เหมือนให้ทุกคนในเครือข่ายถือเอกสารชุดเดียวกัน อัปเดตเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันตลอด ผลที่เห็นได้ชัดคือ หากมีข้อมูลใดเปลี่ยนแปลงก็จะสามารถรู้ได้ว่าเป็นข้อมูลที่ผิดปกติ เพราะไม่ตรงตามข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ การหาตัวการบิดเบือนข้อมูลก็จะแคบลงมาก ซึ่งจะต่างจากการครอบครองข้อมูลไว้เพียงที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งหากข้อมูลถูกเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นอันจบเห่ ซึ่งอาจนำไปถึงการตรวจสอบที่ยุ่งยากกว่า

ในปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain นี้ถูกนำไปใช้ในระบบต่าง ๆ มากมาย เช่น ระบบธุรกรรมการเงิน, ระบบเก็บข้อมูลแบบ Cloud รวมไปถึงแนวคิดในการนำมาใช้สำหรับการเลือกตั้ง เนื่องจากเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพในการตรวจสอบ และสามารถยกระดับการลงคะแนนที่โปร่งใสกว่าเดิม

Blockchain กับการเลือกตั้ง

หากเรานำเทคโนโลยีข้างต้นนี้มาประยุกต์ใช้กับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง องค์ประกอบต่าง ๆ จะมีดังนี้

  • ผู้คุมการเลือกตั้งหรือกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้ระบุและกำหนดสิทธิ์ของผู้ลงคะแนน ซึ่งใช้คุณสมบัติตามกฎเป็นตัวกำหนด
  • ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง
  • ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เป็นกลุ่มที่ต้องลงคะแนนให้กับผู้สมัคร

เมื่อถึงช่วงเวลาเลือกตั้ง ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพียงยืนยันตัวตนผ่านเครือข่าย และทำการลงคะแนน เป็นอันเสร็จสิ้น โดยเมื่อสิ้นสุดการลงคะแนนระบบจะตัดสิทธิ์ไม่ให้มีผู้ลงคะแนนเกินเวลา และคะแนนทั้งหมดจะรวมสุทธิให้เห็นอย่างทั่วถึงกับผู้ใช้ทุกคน ทั้งผู้ใช้สิทธิ์ ผู้สมัคร และผู้คุมการเลือกตั้ง

ซึ่งมีบางประเทศที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในระบบราชการบ้างแล้ว คือ

  • ประเทศสิงคโปร์ นำ Blockchain มาใช้ในระบบราชการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง และการกำหนดราคากลาง เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ
  • ประเทศญี่ปุ่น มีการใช้ Blockchain ให้ประชาชนลงคะแนนเสียงผ่านการยืนยันตัวตนด้วยเลขบัตรประชาชน
  • ประเทศเอสโตเนีย นำมาใช้ในการจัดการข้อมูลบัตรประชาชน และการเข้าถึงสิทธิพลเมือง
  • ประเทศเกาหลีใต้ กำลังลงทุนในการนำ Blockchain มาใช้ในการเลือกตั้ง

ถ้าใช้ Blockchain ในการเลือกตั้งจริง ๆ

หากต้องจำลองสถานการณ์การเลือกตั้งด้วย Blockchain มันควรจะประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

  • Hardware ที่ทุกคนเข้าถึงได้​ เรายังไม่มีวิธี Interface กับ Digital โดยไม่ผ่าน Hardware หากจะนำมาใช้ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เราต้องการ Device ที่รองรับลงคะแนนดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถลงคะแนนตรงสู่ระบบได้เลย
  • Software ต้องใช้ง่าย มีความปลอดภัยสูง Software ต้องถูกออกแบบให้ครอบคลุมและปลอดภัยต่อการใช้งาน รวมถึงเมื่อคำนึงถึงความหลากหลายของผู้คน ต้องมีการใช้งานที่ง่ายที่สุด
  • ผู้มีสิทธิ์ทุกคนอาจต้องใช้ Digital ID เป็นกระบวนการยืนยันตัวตนหากต้องนำข้อมูลเข้าสู่ดิจิทัล หนึ่งใน Model ที่กำลังได้รับความสนใจคือ Digital ID เราต้องมีข้อมูลดิจิทัลของเราเพื่อเป็นการยืนยันการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ธุรกรรมที่ทำจะถูกบันทึกบน Blockchain เสมอ ทำให้เรายืนยันตัวตนผ่านธุรกรรมเดิมได้ ซึ่งการเลือกตั้ง เป็นกระบวนการที่การยืนยันตัวตนจะผิดพลาดไม่ได้ การใช้ Digital ID จึงช่วยลดโอกาสผิดพลาดส่วนนี้

ประโยชน์เบื้องต้นที่มองเห็น

ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเป็นไปได้เพียงแค่ลงทุนกับมันและหยิบมาใช้ เราสามารถเห็นประโยชน์ของมันได้ เช่น

  • ตัดระบบตัวกลางในการนับคะแนนเพื่อตัดปัญหาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลคะแนน
  • เพิ่มความสะดวกในการลงคะแนนแก่ผู้ใช้สิทธิ์ ทั้งในเรื่องของการเดินทาง ระบบจัดการต่าง ๆ ที่ยุ่งยาก ทำให้สามารถประหยัดงบ ลดการใช้กระดาษได้อีกด้วย
  • ให้ผลที่ชัดเจนและแม่นยำ หากกำหนดคุณสมบัติในการลงคะแนนได้ชัดเจนพอจากฐานข้อมูล หมดปัญหาคะแนนผี

แต่ถึงอย่างไร ผลเสียของเทคโนโลยีรูปแบบนี้ก็มีอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงของผู้ขาดโอกาส เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ อาจส่งผลให้เสียสิทธิ์เลือกตั้งไปฟรี ๆ รวมถึงการยืนยันตัวตนเพื่อลงคะแนนยังมีช่องโหว่อยู่ ต้องใช้ความซับซ้อนมากกว่านี้เพื่อความแม่นยำ ที่สำคัญระบบแบบไทย ๆ จากที่เราเคยผ่านการใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของทางราชการ จะเห็นได้ว่าระบบล่มหรือใช้ไม่ได้บ่อยมาก โดยเฉพาะหากมีการเข้าใช้มากถึงระดับสิบล้านคน ก็คงต้องมีการพัฒนาระบบที่จริงจังมากกว่านี้ เพราะอย่างไรเสีย เทคโนโลยีก็เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ที่สำคัญจริง ๆ คือระบบกลไกต่างหาก

Next Post

TANAKA Precious Metals to Exhibit at "PCIM Europe 2023," the Industry's Largest International Trade Fair Specializing in Power Electronics

จันทร์ พ.ค. 8 , 2023
TOKYO, May 8, 2023 – (JCN Newswire via SEAPRWire.com) – TANAKA Kikinzoku Kogyo K.K. (Head office: Chiyoda-ku, Tokyo; Representative Director & CEO: Koichiro Tanaka), which develops the manufacturing business of TANAKA Precious Metals, and TANAKA Denshi Kogyo K.K. (Head office: Kanzak […]